ประวัติมังกรจีน

16 มกราคม 55 / อ่าน : 20,145

ประวัติมังกรจีน 

ความเชื่อเกี่ยวกับมังกร

มีตำนานกล่าวว่ามังกรเป็นสัตว์อมตะและยังมีอิทธิฤทธิ์มาก เนื่องจากมังกรมีลูกแก้ววิเศษอยู่ในปาก ทำให้สามารถเหาะเหิรเดินอากาศได้หรือจะเดินดิน-ดำนํ้าก็ได้ สามารถล่องหนหายตัวแปลงกายให้เล็ก ใหญ่ สั้น ยาวก็ได้ ชาวจีนจึงยกย่องให้มังกรเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง ทั้งยังเป็นพาหนะของเจ้าแม่กวนอิมอีกด้วย ธรรมชาติของมังกรเป็นสัตว์ดุร้ายแต่ก็สามารถจะบันดาลประโยชน์สุข ให้บังเกิดแก่มวลมนุษย์ได้เช่นกัน เพราะมังกรสามารถทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆบันดาลให้เกิดฝน-ลม-ไฟ ช่วยกำจัดสิ่งชั่วร้าย ดังตำนานของชาวจีนที่เล่าต่อกันมาว่า เมืองจีนในช่วงฤดูหนาวบังเกิดความแห้งแล้ง มีสาเหตุมาจากเป็นช่วงเวลาที่มังกรหลับ แต่พอมังกรตื่นขึ้นมาจะนำพาเอานํ้ามาด้วยอย่างมากมายจนเกิดอุทกภัย สร้างความเดือดร้อนไปทั่วทั้งแผ่นดิน จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนหมู่มากนี้เอง ทำให้เจ้าแม่กวนอิมโพธิสัตว์ต้องลงโทษให้มังกรต้อง เข้าไปจำศีลภาวนาชดใช้กรรมอยู่ภายในถํ้าถึง 3,000 ปี จนมังกรบังเกิดบารมีจนกลายเป็นสัตว์ชั้นเทพ สามารถเหาะขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ได้ ทั้งยังต้องทำหน้าที่เฝ้าดูแลลูกแก้ววิเศษของเจ้าแม่กวนอิมโพธิสัตว์อีกด้วย เราจึงมักเห็นรูปวาดของมังกรจีนมีลูกแก้วอยู่ด้วย

ตามความเชื่อของชาวจีนโบราณนั้น จะมีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ 4 ชนิด คือ กิเลน หงส์ เต่า และมังกร โดยชาวจีนจะเชื่อถือกันว่ามังกรนั้น เป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนั้น มังกรจีนหรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “เล้ง-เล่ง-หลง-หลุง” ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของการออกเสียงของในแต่ละท้องถิ่น ชาวจีนถือว่ามังกรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย เนื่องจากมังกรจีนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์แห่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์และเป็นตัวแทนของจักรพรรดิ ผู้เป็นโอรสจุติมาจากสวรรค์ ชาวจีนจึงมีความเชื่อว่าหากผู้ที่ได้พบเห็นมังกร จะถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองมาก ผู้ที่มีโอกาสจะได้ขี่หลังมังกรจะต้องเป็นคนมีศีล มีสัตย์ มีจิตใจบริสุทธิ์ดีงาม ถึงจะมีมังกรมารับไปเป็นเซียนอยู่บนสวรรค์

การนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้น หรือประดับตามข้าวของเครื่องใช้ หากเป็นของจักรพรรดิ มังกรจะมี 5 เล็บ ของขุนนางจะมี 4 เล็บ ถ้าสามัญชนจะมี 3 เล็บเท่านั้น

ชนิดของมังกรจีน

คนจีนมีคติความเชื่อว่ามังกรของจีนแต่สมัยโบราณนั้นสามารถแบ่งแยกออกเป็น 9 ชนิด การแบ่งชนิดของมังกรนั้นในแต่ละตำราก็มีการแบ่งที่แตกต่างกันออกไป บางตำราบอกว่าแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

มังกรแท้ ชิวเล้ง เป็นมังกรขนาดใหญ่ มีเขาและปีก เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด เป็นใหญ่เหนือมังกรทั้งปวง อาศัยอยู่บนฟ้าหรือบนสวรรค์

มังกร หลี่ หรือ ลี่ เป็นมังกรไม่มีเขา อาศัยอยู่ในมหาสมุทร

มังกร เจี่ยว หรือ เฉียว เป็นพวกมังกรมีเกล็ด อาศัยตามลุ่มหนองหรือถํ้าตามภูเขา มีขนาดตัวเล็กกว่ามังกรที่อยู่บนท้องฟ้า มีหัวและลำคอเล็ก ไม่มีเขา หน้าอกเป็นสีเลือดหมูหรือสีนํ้าตาลเข้ม ด้านข้างลำตัวและสันหลังมีลายแถบเป็นสีเขียวและสีเหลือง มี 4 ขา ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับงู มีลำตัวยาวประมาณ 13 ฟุต บางตำราบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า หลง เป็นมังกรแห่งสวรรค์ หลี่ เป็นมังกรแห่งทะเล และเจี่ยว เป็นมังกรแห่งภูเขาและที่ลุ่ม

บางตำราได้เพิ่มลักษณะของมังกรจีนพื้นถิ่นเดิม ก่วย เป็นมังกรที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายมังกรแท้ บุคลิกดูใจดี กล่าวกันว่ามันมีอำนาจที่เข้มแข็งในการต่อต้านกับความโลภและกิเลสทั้งปวง ชาวจีนนิยมนำมาเขียนเป็นลวดลายบนภาชนะสำริดยุคโบราณต่างๆ มังกรจีนทั้ง 9 ชนิดนั้นมีการผูกลายกันอย่างมากมายหลากหลายชนิด ตั้งแต่พระราชวังที่ประทับของฮ่องเต้ วัดและเคหสถานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตลอดไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ มังกรจีนเป็นมังกรที่มีศักดิ์ศรี มีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างชัดเจน ได้แก่

มังกรสวนนิ เป็นมังกรที่ใช้สลักบนบัลลังก์ขององค์พระประติมากรรม และใช้แทนฐานรูปสิงโต

มังกรเฉาฟง เป็นมังกรที่ใช้สลักบนสถาปัตยกรรมชายคา โบสถ์

มังกรฟูเหลา เป็นมังกรที่ใช้ประดับบนยอดระฆังและกลอง ซึ่งเป็นเครื่องเสียงที่ใช้สำหรับต่อสู้หรือใช้ในการประกอบพิธีการที่สำคัญ

มังกรไยสู เป็นมังกรที่ใช้สลักบนฝักดาบ บนกระบังดาบ และบริเวณใบดาบ รวมทั้งใบง้าว

มังกรฉีเหวิน เป็นมังกรที่ใช้ประดับบนชื่อสะพาน เพราะมังกรฉีเหวินเป็นมังกรน้ำและยังใช้สลักบนบริเวณหลังคาอาคารสถาปัตยกรรม เพื่อป้องกันไฟอีกด้วย แต่บางครั้งก็จะย่อให้เหลือแต่ส่วนหางเท่านั้น จึงกลายเป็นปลามังกร หางปลา

มังกรปาเซียน เป็นมังกรที่ใช้สลักที่บริเวณส่วนล่างของสถาปัตยกรรม เชื่อกันว่ามังกรปาเซียนนั้นจะสามารถช่วยพยุงน้ำหนักได้ ซึ่งเหมือนกันคนไทยที่มักจะใช้ยักษ์และคนแคระ ในการช่วยพยุงน้ำหนัก หรือบางครั้งก็จะใช้สิงห์แบกแทน

มังกรฉิวนิว เป็นมังกรที่ใช้สลักบนลูกปิดของ “ซอ”เพราะมังกรฉิวนิวนั้นชอบฟังเพลง

มังกรปิกัน เป็นมังกรที่ใช้สำหรับสลักบนประตูคุก เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของเหล่านักโทษ มังกรปิกันเป็นมังกรที่รักในการใช้พละกำลัง เป็นการแสดงความดุร้าย ซึ่งนักเลงมักจะนิยมสักมังกรชนิดนี้ไว้ที่บริเวณแขน หน้าอกและบริเวณกลางหลัง บางคนก็สักไว้ที่หน้าขาและที่อื่นๆ นักเลงพวกนี้มักจะสักมังกร “คุก” และเรียกขานกันว่า พวก ตั้วหลักเล้ง จะใช้เป็นสัญลักษณ์

พญามังกร เป็นมังกร 4 ตัว ซึ่งปกครองอยู่เหนือทะเลทั้งสี่ คือ ทะเล ตะวันออก(ตัง), ใต้(นํ่า), ตะวันตก(ไซ) และเหนือ(ปัก) พญามังกรอาศัยอยู่ในปราสาทมหาสมุทรหรูหรา(วังใต้ทะเล) และกินไข่มุกเจียงตู หรือไข่มุก และโอปอล เป็นอาหาร และพญามังกรทั้งสี่ตัวเป็นพี่น้องกัน บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่ามังกร 4 ตัวนี้มีผู้ควบคุมชื่อ ฉิน แท็ง (Chien-Tang) เป็นมังกรที่มีสีแดงเลือด มีแผงคอเป็นไฟ และยาว 900 ฟุต


ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101