โครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์”
หลักการและเหตุผล
ด้วยปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนไทยอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๕๔) พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละปีประมาณ ๑๑,๐๐๐ – ๑๓,๐๐๐ คน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ ๓๓ คน และมีจำนวนผู้บาดเจ็บอีกปีละประมาณ ๑ ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ได้แก่ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ จะพบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น เฉลี่ยวันละประมาณ ๕๕ คน ซึ่งสูงกว่าปกติเกือบ ๒ เท่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ ได้แก่ การเมาแล้วขับ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด การหลับใน การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด และการฝ่าสัญญาณจราจร เป็นต้น
ตารางแสดงจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่
( ๗ วันระวังอันตราย)
พ.ศ. |
จำนวนผู้เสียชีวิต |
จำนวนผู้บาดเจ็บสาหัส |
๒๕๔๙ |
๔๓๔ |
๔,๗๗๒ |
๒๕๕๐ |
๔๔๙ |
๔,๙๔๓ |
๒๕๕๑ |
๔๐๑ |
๔,๙๐๓ |
๒๕๕๒ |
๓๖๗ |
๔,๑๐๗ |
๒๕๕๓ |
๓๔๗ |
๓,๘๒๗ |
๒๕๕๔ |
๓๕๘ |
๓,๗๕๐ |
๒๕๕๕ |
๓๓๕ |
๓,๓๗๕ |
ตารางแสดงจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์
( ๗ วันระวังอันตราย)
พ.ศ. |
จำนวนผู้เสียชีวิต |
จำนวนผู้บาดเจ็บสาหัส |
๒๕๔๙ |
๔๘๕ |
๕,๙๘๐ |
๒๕๕๐ |
๓๖๑ |
๔,๘๐๕ |
๒๕๕๑ |
๓๖๘ |
๔,๘๐๓ |
๒๕๕๒ |
๓๗๓ |
๔,๓๓๒ |
๒๕๕๓ |
๓๖๑ |
๓,๘๐๒ |
๒๕๕๔ |
๒๗๑ |
๓,๔๗๖ |
มูลนิธิเมาไม่ขับในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในด้านการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและตระหนักในเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมากว่า ๑๕ ปี ซึ่งกลยุทธ์ในการดำเนินงานจะมีการพัฒนารูปแบบในการรณรงค์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสภาพการณ์ของปัญหาและสถานการณ์ทางสังคม ทั้งนี้ กิจกรรมหลักที่มูลนิธิเมาไม่ขับดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี คือ การรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล ปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสถิติการบาดเจ็บ การพิการ และการเสียชีวิตของคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
การจัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มูลนิธิ เมาไม่ขับ กำหนดประเด็นในการรณรงค์โดยการตั้งเป้าลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ “ปีใหม่ตายเป็นศูนย์” ภายใต้หลักคิดที่ไม่ต้องการเห็นคนไทยต้องสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแม้แต่รายเดียว ซึ่งภายหลังการเปิดตัวโครงการได้รับการตอบรับจากสังคมและเห็นด้วยในหลักการอย่างกว้างขวาง หลายจังหวัดได้นำหลักการไปใช้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ให้ “ตายเป็นศูนย์” และผลปรากฏเป็นประวัติการณ์ว่า มีจังหวัดที่สามารถบรรลุเป้าหมาย “ตายเป็นศูนย์” หรือ ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวนมากถึง ๑๐ จังหวัดด้วยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากจังหวัดมีการดำเนินงานอย่างเข้มข้นและจริงจังจะสามารถช่วยคนไทยจำนวนหนึ่งให้มีชีวิตรอดปลอดภัยได้
ด้วยเหตุดังกล่าว มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงได้เล็งเห็นว่า การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ไม่เกินความสามารถ ดังที่หลายจังหวัดได้มีผลการดำเนินงานอันเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว ทั้งนี้ โดยความร่วมมือ ร่วมใจจากหลายฝ่าย ผู้ปฏิบัติงานมีการทุ่มเทแรงกายแรงใจ เสียสละความสุขส่วนตัว และความสุขของครอบครัว ในการทำหน้าที่ป้องกันดูแลรักษาชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ที่ใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัย ซึ่งจังหวัดที่มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง และเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา และเป็นทรัพยากรอันมีค่าของประเทศชาติได้นั้น ถือเป็นการดำเนินงานที่เป็นการตอบแทนคุณให้แก่แผ่นดิน สมควรที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสังคม เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ปฏิบัติงาน และเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไปดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะมาถึงนี้ มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงมีแนวความคิดในการจัดทำโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” ขึ้น โดยจะมีการยกย่องเชิดชู ประกาศเกียรติยศให้แก่จังหวัดที่มีการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นการปกป้องทรัพยากรอันมีค่าที่สุดของประเทศ
พร้อมกันนี้ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอุดมการณ์ คือ “เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” และมีวัตถุประสงค์ขององค์กรในการส่งเสริมคุณธรรมการทำ ความดี ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ และความจงรักภักดี รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรที่ดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้พิจารณา เห็นว่า โครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” ดังกล่าวข้างต้นมีหลักการและ แนวทางการดำเนินงานสอดคล้องกับแนวนโยบายของมูลนิธิรัฐบุรุษฯ จึงยินดีให้การสนับสนุนรับอุปถัมภ์โครงการฯ โดยจะเป็นผู้มอบโล่เกียรติยศและรางวัลในนามของมูลรัฐบุรุษฯ เชิดชูเกียรติให้แก่จังหวัดที่มีการดำเนินงานในการป้องกันการสูญเสียชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๕ นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อยกย่อง เชิดชูหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการป้องกันการสูญเสียชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๕ นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒. เพื่อเป็นการเสริมพลัง สร้างขวัญและกำลังใจต่อระดับบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๕
๓. เพื่อรณรงค์สร้างกระแสสังคมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชน ได้ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยและร่วมมือกันในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
กิจกรรม / การดำเนินงาน
กิจกรรมหลักของโครงการ คือ การยกย่องเชิดชูจังหวัดที่มีการดำเนินงานในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ดีเด่น โดยมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะมอบโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลให้แก่จังหวัดที่ผลการดำเนินงานดีเด่นสามารถป้องกันไม่ให้มีการเสียชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน (ตาย = ๐) ในช่วง ๗ วันระวังอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๕
เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุแตกต่างกัน อันเป็นเหตุให้การดำเนินงานมีความยากง่ายต่างกัน เช่น ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร ระยะทางหรือความยาวของเส้นทางผ่านจังหวัด แหล่งท่องเที่ยวฯลฯ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มของจังหวัดต่างๆ เพื่อความเหมาะสมในการพิจารณาผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้พิจารณาจากข้อมูลสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลังในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๔) และจัดแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้
๑) กลุ่มโซนสีขาว (ความเสี่ยงต่ำมาก) : กลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม ๖ ปี เท่ากับ ๐ – ๑๕ ราย มีจำนวน ๒๕ จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สมุทรสงคราม แม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตราด อำนาจเจริญ ลำพูน พัทลุง ยโสธร ศรีสะเกษ บึงกาฬ สตูล มหาสารคาม นครนายก สกลนคร ชัยนาท นราธิวาส สุโขทัย หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง หนองคาย มุกดาหาร พังงา
๒) กลุ่มโซนสีเขียว (ความเสี่ยงต่ำ) : กลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม ๖ ปี เท่ากับ ๑๖ – ๓๐ ราย มีจำนวน ๒๒ จังหวัด ได้แก่ น่าน สมุทรสาคร เพชรบุรี กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ สมุทรปราการ กระบี่ อุทัยธานี พะเยา แพร่ พิจิตร นนทบุรี ภูเก็ต สิงห์บุรี ลำปาง ชุมพร เลย ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร
๓) กลุ่มโซนสีเหลือง (ความเสี่ยงปานกลาง) : กลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม ๖ ปี เท่ากับ ๓๑ – ๔๐ ราย มีจำนวน ๑๓ จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สงขลา นครปฐม นครพนม อุดรธานี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ อุบลราชธานี ราชบุรี บุรีรัมย์ สระแก้ว สุรินทร์ ระยอง
๔) กลุ่มโซนสีแดง (ความเสี่ยงสูง) : กลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม ๖ ปี มากกว่า ๔๐ รายขึ้นไป มีจำนวน ๑๗ จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด จันทบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ชลบุรี สระบุรี อยุธยา เพชรบูรณ์ ลพบุรี กรุงเทพฯ เชียงราย นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก
กำหนดให้มีรางวัลแบ่งตามกลุ่มต่างๆ โดยมอบเป็นรายจังหวัด ดังนี้
- จังหวัดในกลุ่มโซนสีขาว : โล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท
- จังหวัดในกลุ่มโซนสีเขียว : โล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท
- จังหวัดในกลุ่มโซนสีเหลือง : โล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล ๓๐๐,๐๐๐ บาท
- จังหวัดในกลุ่มโซนสีแดง : โล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ขั้นตอนการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ ๑ : เปิดตัวโครงการ
- จัดการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ มูลนิธิรัฐบุรุษฯ
- ประชาสัมพันธ์โครงการไปยังทุกจังหวัด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และประชาชน โดยเปิดให้มีการร่วมสมทบทุนเงินรางวัลเพื่อมอบให้แก่จังหวัดที่สามารถดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างปลอดภัย “ตายเป็นศูนย์”
ขั้นตอนที่ ๒ : การพิจารณาประเมินผลการดำเนินงานของจังหวัดต่างๆ (ช่วงระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕)
- จัดให้มีคณะทำงานในการประเมินผลการดำเนินงานของแต่ละจังหวัด ภายหลังจากครบกำหนด ช่วง ๗ วันระวังอันตราย โดยพิจารณาจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
ขั้นตอนที่ ๓ : พิธีมอบรางวัล (ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ๒๕๕๕)
- จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศ และเงินรางวัลให้แก่จังหวัดที่สามารถดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างปลอดภัย “ตายเป็นศูนย์” โดยรับมอบจากประธานมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ระยะเวลาดำเนินโครงการ เดือนมีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๕
งบประมาณในการดำเนินโครงการ
ประมาณการงบประมาณในการดำเนินโครงการ ในวงเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
- การจัดประชุมเตรียมการ
- การจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ และการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
- การจัดทำโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
หมายเหตุ : แหล่งงบประมาณโดย มูลนิธิเมาไม่ขับ จะเป็นผู้ประสานจัดหาการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน เพื่อมอบให้แก่มูลนิธิรัฐบุรุษฯ โดยตรง
หน่วยงานรับผิดชอบประสานงานโครงการ
มูลนิธิเมาไม่ขับ ๒๘/๑๒ ซ.สุขุมวิท ๑๙ ถ.สุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม. ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์,โทรสาร ๐ ๒๒๕๔ ๐๐๔๔ , ๐ ๒๒๕๔ ๕๙๕๙ E-mail : [email protected]
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. บุคลากรองค์กร หรือหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้รับขวัญและกำลังใจในการดำเนินงาน
๒. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชน มีความสนใจ เอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยและร่วมมือกันในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น
๓. ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง