คมนาคม ตรวจเข้มผู้ขับขี่
รถสาธารณะแอลกอฮอล์เป็นศูนย์
มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) สสส. และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ สงกรานต์ปลอดภัยตายเป็นศูนย์ “ โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งบรรยากาศในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องอันตรายจากการเมาแล้วขับ แจกสติ๊กเกอร์ แผ่นพับ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดเสวนา ส่งรักกลับบ้าน ร่วมใจเมาไม่ขับ” โดยมีเหยื่อเมาแล้วขับ และผู้ถูกจับในคดีเมาแล้วขับ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
จากสถิติอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2554 พบว่า มีคนไทยเสียชีวิต 271 คน บาดเจ็บ 3,476 คน สาเหตุหลักใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วงแล้วขับ และขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 80.03 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สาเหตุหลักได้แก่เมาแล้วขับ ร้อยละ 39.36 ไม่สวมหมวกกันน็อก ร้อยละ 30.75 ขับรถเร็วร้อยละ 20.68 ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 17.70 อายุ 1-14 ร้อยละ 11.70 และอายุระหว่าง 25-29 ปี ร้อยละ 10.95 จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2554 จัดเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด
จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า
การเสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีสถิติสูงอยู่ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ มีอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด สงกรานต์นี้จึงอยากขอร้องผ่านไปยังประชาชนที่จะเฉลิมฉลองขอให้สงกรานต์นี้ ปลอดแอลกอฮอล์ทุกชนิด เมาก็อย่าขับเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและเพื่อนร่วมทาง
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ตนถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะต้องอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน ทั้งนี้ ได้กำหนดเป็นนโยบายให้พนักงานที่ขับขี่รถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งผู้ขับขี่รถ บขส. , รถไฟ , รถขสมก. และรถร่วมทั้งหลาย โดยจะเข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่ต้องปลอดจากแอลกอฮอล์ ตรวจเข้มในเรื่องการเมาสุรา การขับรถเร็ว การโทรแล้วขับ ฯลฯ โดยเฉพาะรถสาธารณะแอลกอฮอล์จะต้องเป็นศูนย์ ซึ่งถ้าปรากฏว่าผู้ขับขี่คนใดฝ่าฝืนและมีการตรวจพบจะมีการลงโทษสถานหนักถึงขั้นไล่ออก ให้ออก ตัดเงินเดือนหรือพักงาน
“ผู้ขับขี่รถสาธารณะเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการขับขี่รถที่สูงกว่าผู้ขับขี่รถทั่วไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้แต่เพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นเจตนาที่จะละเมิดกฎแห่งความปลอดภัย ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วฐานดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ และผิดกฎหมายขนส่งโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว