ผบ.ตร. คนใหม่
นายตำรวจผู้บุกเบิกตั้งด่านตรวจ “เมาไม่ขับ”
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ที่จะมารับหน้าที่แทน
พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ คือ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงและผลงานของท่านมากมายหลายเรื่องจากที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนทุกแขนง เรื่องสำคัญๆ ได้แก่ การต่อสู้เอาชนะกับภัยคอมมิวนิสต์ในอดีต การปราบปรามยาเสพติด และการดูแลความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่รู้ว่านายตำรวจท่านนี้เป็นผู้ที่บุกเบิกการตั้งด่านตรวจผู้ขับขี่ที่เมาสุราอย่างจริงจังเป็นคนแรก ในช่วงสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจจราจร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑?
ประเทศไทยมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และมีการออกกฎกระทรวงฯ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ อย่างไรก็ตามภายหลังที่มีการออกกฎกระทรวงแล้วในทางปฏิบัติก็ยังไม่ได้มีการนำกฎหมายมาบังคับใช้แต่อย่างใด อาจเป็นเพราะการขาดปัจจัยเอื้อหลายประการ เช่น การขาดอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเนื่องจากมีภาระงานมาก รวมไปถึงความไม่มั่นใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กลัวกระแสต่อต้านจากสังคมที่ยังไม่มีการสร้างความเข้าใจ ดังนั้น การดำเนินงานในการป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับในสมัยนั้นจึงมีเพียงการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้ขับขี่เท่านั้น โดยมีชมรมเมาไม่ขับ (ก่อนจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมาไม่ขับในปัจจุบัน) เป็นกลุ่มแกนนำ ซึ่งหลังจากที่มีการรณรงค์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งจึงเกิดแนวความคิดว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายร่วมด้วยจะช่วยทำให้ลดพฤติกรรมการเมาแล้วขับลงได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงได้พยายามประสานงานกับตำรวจเพื่อขอทดลองนำร่อง การตั้งด่านตรวจจับคนเมาบนท้องถนน แต่ก็ยังไม่ผล ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ได้ใจความ “ จับคน
ดี ๆ ก็ยังยุ่ง นี่หมอจะให้มาจับคนเมามิยิ่งยุ่งไปกันใหญ่หรือ ”
แต่ต้องนับว่าเป็นโชคดีของโครงการเมาไม่ขับเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โยกย้ายพลตำรวจตรี
อดุลย์ แสงสิงแก้วมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจจราจร แม้จะไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าพบและพูดคุยกัน พลตำรวจตรีอดุลย์ ได้เห็นความสำคัญและออกปากว่า “ผมเพิ่งย้ายมาจากบ้านนอกยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แต่ผมเห็นว่าโครงการเมาไม่ขับเป็นโครงการที่ดี คุณหมอจะให้ผมช่วยอะไร บอกมาได้เลย” ด้วยความตั้งใจจริงและการมีหลักคิดในการทำงานของพลตำรวจตรีอดุลย์ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน จึงมีการเชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อาทิเช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริษัท วิริยะประกันภัย การไฟฟ้านครหลวง ขสมก. กทม. มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง? มูลนิธิร่วมกตัญญู กลุ่มแท็กซี่อาสา สื่อมวลชน ฯลฯ ให้เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมรวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ จนสามารถจัดตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ขึ้นเป็นครั้งแรกได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ในช่วง ๓ เดือนแรกที่มีการตั้งด่านได้ประกาศเป็นช่วงป้องปราม คือ ยังไม่มีการส่งดำเนินคดี เมื่อตรวจพบว่าผู้ขับขี่เมาจะตักเตือนและ กักตัวให้พักรอจนกว่าจะหายเมาก่อนปล่อยตัว ช่วงป้องปรามจัดเป็นช่วงที่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้าง
ความเข้าใจต่อสังคม ซึ่งประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือที่ดีเมื่อถึงช่วงกำหนดในการตรวจจับจริง โดยไม่มีกระแสต่อต้านแต่อย่างใด
การดำเนินงานในการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ของกองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งนำ
โดยพลตำรวจตรีอดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลให้มีการนำไปขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ อย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าผลงานที่พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้ทำขึ้นในขณะนั้นเป็นส่วนเติมเต็มส่วนหนึ่งให้แก่การดำเนินงานของมูลนิธิเมาไม่ขับและหน่วยงานอื่นๆ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในโอกาสที่พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เป็นคนที่ ๙ ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป มูลนิธิเมาไม่ขับขอแสดงความยินดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ช่วง ๒ ปี ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อสังคม และสร้างความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนให้มีมากยิ่งขึ้นต่อไป