นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า
จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่มีอุบัติเหตุจราจรสูง พฤติกรรมที่น่าห่วงใยก็คือการไม่สวมหมวกกันน็อก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเชื่อว่าการขับขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งบุตรหลานระยะใกล้ ๆ ไม่อันตรายอะไร ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด ซึ่งในทางกฎหมายการที่พ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วไม่สวมหมวกกันน็อก ถือว่ามีความผิดตาม พรบ.จราจรทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และพรบ.คุ้มครองเด็กมาตรา 26 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะสามารถบังคับใช้กฎหมายในการจับเด็กเยาวชนไม่สวมหมวกกันน็อกได้
จังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้ร่วมกับชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการผู้ว่าห่วงหัวคืนความสุขให้ประชาชนขึ้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ณ บึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จัดหาหมวกกันน็อกใส่ให้บุตรหลาน เพื่อปกป้องชีวิตของลูกน้อย
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า
ในเบื้องต้นจังหวัดร้อยเอ็ด ชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. ได้จัดทำหมวกกันน็อกเป็นลายการ์ตูนแพนด้า เต่าทอง และเสือน้อย สีสันสวยงาม จำนวน 1,000 ใบ นำร่องแจกให้กับเยาวชนเพื่อเป็นการนำร่องโครงการผู้ว่าห่วงหัว คืนความสุขให้ประชาชน หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลโครงการเพื่อขยายโครงการให้ครอบคลุมให้ทั่วจังหวัดร้อยเอ็ด
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัวและเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า
เด็กเมื่อเกิดมาจำต้องได้รับการปกป้องดูแลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคจากบาดทะยัก โรคคอตีบ ไอกรน โปลิโอ ฯลฯ และถือเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ การจัดหาหมวกกันน็อกใส่ให้บุตรหลานเมื่อนำเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนป้องกันศีรษะให้กับบุตรหลาน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะยินยอมหรือไม่
ชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ จึงขอเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมกันปกป้องชีวิตเยาวชนไทยด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่นำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ จัดหาหมวกกันน็อกให้บุตรหลานใส่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นบุคคลสำคัญมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ ถ้าจะเพิ่มภารกิจอีกหนึ่งภารกิจ คือการห่วงหัวประชาชน ภายใต้โครงการผู้ว่าห่วงหัวก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมวินัยจราจรของประชาชนและลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรด้วย นายแพทย์แท้จริงกล่าว