หมอแท้จริงวอนผู้ใหญ่หยุดเมา
มอบเป็นของขวัญฉลองวันเด็กแห่งชาติ
นายแพทย์
เทศกาลปีใหม่ 2553 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แม้ว่าทุกฝ่ายจะภูมิใจกับความสำเร็จที่สามารถลดอุบัติเหตุการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ในช่วง 7 วันอันตรายได้ตามเป้า แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วอุบัติเหตุจราจรยังเป็นภัยร้ายแรงบั่นทอนสังคมไทยและเกิดขึ้นทุกวัน
มูลนิธิเมาไม่ขับจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐต้องเร่งทำงานเชิงรณรงค์และป้องกันอย่างต่อเนื่อง นับจากนี้ไปอย่ารอให้ถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วค่อยมาเริ่มทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันเด็กแห่งชาติที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
ขอวิงวอนผู้ปกครองทั้งหลายที่จะพาเด็กไปเที่ยวงานวันเด็กให้หยุดพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับลูกหลานของท่านในโอกาสฉลองวันเด็กแห่งชาติปีนี้
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า
จากการสำรวจของมูลนิธิเมาไม่ขับในช่วงวันเด็กปี 2552 ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนร้องเรียนมายังมูลนิธิเมาไม่ขับเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ปกครองที่เมาแล้วขับพาเด็กไปเที่ยวงานวันเด็ก ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อันตรายอย่างยิ่ง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในแต่ละปีอุบัติเหตุจราจรคร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่า 12,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีรวมอยู่ด้วยประมาณ 600-700 คน (เฉลี่ยวันละ 2 คน) และหากเปรียบเทียบการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรกับการเสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่นๆ จะพบว่า อุบัติเหตุจราจร เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 55 ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า เกิดจากพฤติกรรมเมาแล้วขับเป็นส่วนใหญ่
“ อยากขอฝากไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะพาลูกหลานไปเที่ยววันเด็ก ท่านต้องงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะจากสถิติที่พบในวันเด็กทุกปีจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากผู้ปกครองเมาแล้วขับเป็นจำนวนมาก ” นายแพทย์แท้จริง กล่าว
ข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ข้อมูลการตายจากใบมรณบัตร สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถิติการเสียชีวิตของ เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จากอุบัติเหตุจราจร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 – 2551 มีจำนวนเท่ากับ 762 , 668 , 659 , 594 และ 636 รายต่อปี ตามลำดับ
ข้อมูลจากรายงานของโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2541-2550) พบว่า อุบัติเหตุขนส่ง เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการบาดเจ็บรุนแรงในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 55.6 และคิดเป็นร้อยละ 11 ของทุกกลุ่มอายุ อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย เท่ากับ 1:2 ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารร้อยละ 40 เป็นผู้ขับขี่ร้อยละ 32 และเป็นคนเดินเท้าร้อยละ 24 รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมากที่สุดร้อยละ 57 และที่สำคัญพบพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุขนส่งที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมีสูงถึงร้อยละ 4.5