เอกสารโครงการเวทีเสวนาขายเหล้าให้เมาแล้วขับ ต้องรับผิดด้วย 11 มี.ค.2558

9 มีนาคม 58 / อ่าน : 5,624

โครงการ เวทีเสวนา “ ขายเหล้าให้เมาแล้วขับ ต้องรับผิดด้วย” 

 

หลักการและเหตุผล 

 

            จากสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของคนไทยที่ผ่านมาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ          เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท และมีการคาดการณ์กันว่า หากไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ดีพอ มูลค่าความเสียหายจะสูงถึงสามแสนล้านบาท ซึ่งกว่าครึ่งของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากเมาแล้วขับ แม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 จะเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจเรียกคนขับตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ และมีการกำหนดโทษให้สูงขึ้นกับผู้เมาขับ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี  และตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามสถานบริการและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำหน่ายสุราให้แก่บุคคลบางประเภท  หรือห้ามขายในบางช่วงเวลา และบางสถานที่ก็ตาม แต่ปัญหาการเสียชีวิตจากเหตุจราจรอันเนื่องมาจากเมาขับ ก็ยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

               ปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือเจ้าของสถานบริการและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่ตระหนักถึงโทษของการเมาขับ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้ดื่มต้องรับผิดชอบต่อตนเองไม่เกี่ยวกับสถานบริการหรือร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่ม จึงทำให้เจ้าของร้านปล่อยปละละเลย และไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม ทั้งนี้ยังรวมไปถึงผู้ที่จัดงานเลี้ยงที่มีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวาระต่าง ๆ

               ดังนั้น หากมีมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมไปถึงสถานบริการและร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่นักดื่ม  ผู้จัดงานเลี้ยงจนเมาแล้วขับรถไปก่อเหตุอันตรายต่อทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย ของบุคคลอื่น ให้เจ้าของสถานบริการ หรือเจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้จัดงานเลี้ยงต้องรับผิดร่วมกับนักดื่มที่เมาขับในฐานะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดและต้องรับโทษทั้งในความผิดอาญาและความผิดทางแพ่งด้วย เพื่อสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้เจ้าของสถานบริการและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้จัดงานเลี้ยงต้องระมัดระวังแสดงความรับผิดชอบไม่ให้ผู้ดื่มไปกระทำการที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียกับผู้อื่น จึงสมควรศึกษามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศ  ว่าจะนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้แก่เจ้าของสถานบริการและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้จัดงานเลี้ยงให้ต้องรับผิดร่วมกับนักดื่มที่เมาขับได้เพียงใด

            ทั้งนี้เวทีเสวนานี้ มุ่งหวังจะให้เกิดความตระหนักในปัญหาเพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบร่วมกัน มากกว่าจะผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกเป็นจำเลยของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบริการ ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้จัดเลี้ยง แต่มุ่งหวังจะเห็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ ดูแล ปกป้อง ห่วงใย ผู้ที่เมาแล้วขับ ด้วยมาตรการที่เหมาะสม มากกว่าจะปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้เมาแล้วขับเพียงฝ่ายเดียวอย่างเช่นในปัจจุบัน

 วัตถุประสงค์

 

 

  1. เพื่อระดมความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรง ทางอ้อม เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมกับปัญหาผู้ค้า ผู้ขาย ผู้จัดเลี้ยงที่ก่อให้เกิดผู้ที่เมาแล้วขับและไปก่อเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บ ขอบเขตความรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาจะอยู่ตรงไหน

 

กลุ่มเป้าหมาย    

-        ผู้พิพากษา

-        ตำรวจ

-        นักกฎหมาย

-        กลุ่มผู้ประกอบการ

-        กลุ่มนักวิชาการ

-        กลุ่มนักศึกษา

-        สื่อมวลชน

       ประชาชน

 

ผู้ดำเนินการจัดเสวนา      มูลนิธิเมาไม่ขับ

                                  21 ถนนสามัคคี 58 แยกสามัคคี 58/26 ถนนสามัคคี

                                  ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

 

ผู้ให้การสนับสนุนการจัดเวทีเสวนา 

                        สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                        กระทรวงยุติธรรม

                        สภาทนายความ

                           มหาวิทยาลัยสยาม

                        สสส.

 

บทบัญญัติของกฎหมายไทย และต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเมาแล้วขับ

และการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

            มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันหรือเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2514

            อนุญาตให้ร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ใน 2 ช่วงเวลาเท่านั้น ช่วงที่ 1 เวลา 11.00 – 14.00 น. ช่วงที่ 2 เวลา 17.00 – 24.00 น. ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 ประกาศสำนักนายรัฐมนตรี

ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

  1. ห้ามผู้ใดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารในรถ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ยกเว้นที่ที่จัดไว้เป็นร้านค้า หรือสโมสรที่พักส่วนบุคคล หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                         มาตรา 29 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                         มาตรา 30 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามเร่ขาย ลดราคา หรือแจกแถมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                        มาตรา 32 ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550

                        มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

                        หากการกระทำดังกล่าว ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

                    หากผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี ปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่าสองปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต

                       หากทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี ปรับหกหมื่นบาท                  ถึงสองแสนบาท และให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

           พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

                       มาตรา 22 การโฆษณาต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม หากเป็นการกระทำความผิดภายในสถานประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์  ของผู้ประกอบธุกิจ ให้สันนิษฐานว่าผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้กระทำผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่สามารถคาดหมายได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำความผิด แม้จะใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

ประมวลกฎหมายอาญา

                       มาตรา 84 กำหนดให้ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน                   หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

                       ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ

 

บทบัญญัติของกฎหมายต่างประเทศ

 

ประเทศญี่ปุ่น

                         พ.ร.บ. การจราจรของประเทศญี่ปุ่น มีบทบัญญัติห้ามผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา มีสาระสำคัญคือ

                         - ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย

                         - ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะแก่ผู้ทีน่าวิตกว่าจะกระทำผิด ขับรถในขณะเมาสุรา

                         - ห้ามให้สุราหรือสนับสนุนการดื่มสุรา แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด ขับรถในขณะเมาสุรา

                         - ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้น             เป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำความผิด ขับรถในขณะเมาสุรา

บทลงโทษ

               1. ผู้ขับขี่          

                   1.1 เมาแล้วขับ

                         (1) พิจารณาตามสภาพ ว่าไม่อยู่ในอาการที่จะควบคุมการขับขี่ได้ตามปกติ เช่น เดินเซ ตาปรือหน้าแดงก่ำ ฯลฯ

                         (2) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท)

                         (3) หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี 

                          (4) หากก่ออุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกวาการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต                     ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่า การเมาแล้วขับ และทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรงรองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว 

                   1.2 มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย

                          (1) มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 0.15 มิลลิกรัม ต่อลมหายใจ 1 ลิตร

                               (2) โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท)

                          (3) หักคะแนน 13 - 25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี 

                2. ผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ          

                         2.1 มีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่

                3. ผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม หรือผู้ร่วมโดยสารมาด้วย
                         3.1 กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับ

                          (1) โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท)

                         3.2 กรณีผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย

                          (1) โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (108,000 บาท)

              ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีที่จอดรถให้บริการ และทราบได้ชัดเจนว่า ลูกค้าขับรถมาที่ร้าน ร้านอาหารนี้จะต้องไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับผู้ขับขี่ อีกทั้งผู้ที่นั่งรถมาด้วยก็ต้องไม่สนับสนุนให้ดื่ม และจะต้องไม่นั่งรถกลับไปด้วย มิฉะนั้น ทุกฝ่ายจะมีความผิดทั้งหมด

สหรัฐอเมริกา

                         กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีเมาแล้วขับ และบทลงโทษจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละมลรัฐ

                         ยกตัวอย่างอัตราโทษของบางรัฐฯ อัตราโทษกรณีเมาแล้วขับ                                          

                          - ปรับไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์

                          - จำคุกตั้งแต่ 72 ชั่วโมง - 180 วัน

                          - พักใบอนุญาตขับขี่ 90 - 365 วัน

                           - หากครอบครองภาชนะบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เปิดฝาแล้วจะถูกขังเพิ่มขึ้นอีก 3 - 6 วัน                                                 

                           - ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเป็นจำนวนเงิน 2,000 ดอลลาร์ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อรักษาสถานภาพของใบขับขี่

                          ศาลอาจตัดสินให้ภาคทัณฑ์การจำคุกและการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หากเป็นการกระทำกรณีเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต : ต้องโทษปรับไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ จำคุก 2 - 20 ปี และบริการสังคม 240 - 800 ชั่วโมง

 

อังกฤษ

              อัตราโทษกรณีเมาแล้วขับ : โดยทั่วไปแล้วศาลของอังกฤษจะลงโทษด้วยการปรับระหว่าง

400 - 450 ปอนด์ (ประมาณ 22,000 - 22,500 บาท) และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

             กรณีเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต : โทษจำคุกไม่เกิน 14 ปี ค่าปรับไม่มีจำกัดจำนวนเงิน ตัดคะแนน 3 - 11 คะแนน แลหะเพิกถอนใบอนุญาต

          

สิงคโปร์

             อัตราโทษกรณีเมาแล้วขับ : ทำผิดครั้งแรก ปรับ $1,000 - 5,000 (ประมาณ 25,000 - 125,000 บาท) พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี จำคุกไม่เกิน 6 เดือน

             กรณีเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต : เฆี่ยนไม่เกิน 6 ครั้ง (ตามกฎหมายอาญา) 

 

 เกาหลีใต้

                          ระดับแอลกอฮอล์เกินกำหนด : จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านวอน (ประมาณ 286,000 บาท) 

                     กรณีเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต : จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 15 ล้านวอน (ประมาณ 429,000 บาท) เพิกกถอนใบอนุญาตขับขี่ 

           

เวียดนาม

                         ระดับแอลกอฮอล์เกินกำหนด : โทษสูงสุดคือ ปรับ 3,000,000 - 5,000,000 VND (ประมาณ 4,500 - 7,500 บาท) พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 60 วัน 

                     กรณีเกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต : หากก่อให้เกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรงผู้ขับขี่อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีวิต และถูกจำคุก 3 - 10 ปี

          

 

จีน

                         กฎหมายจีนระบุว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 80 มิลลิกรัมขึ้นไป จะได้รับการพิจารณาว่ามีอาการมึนเมา ผู้ที่เมาแล้วขับจะถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ และต้องรอนานถึง 5 ปี จึงจะสามารถขอใบขับขี่ใหม่ได้ ผู้เมาแล้วขับที่ก่อให้เกิดเหตุอันตรายมีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยสองคน จะถูกสั่งห้ามขับขี่ยานพาหนะตลอดชีวิต และหากผู้ขับขี่ทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงจะถูกจำคุก

 

อิหร่าน

                         กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดในขณะขับขี่ไม่เกิน 0 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และเฆี่ยน 40 ครั้ง

 

บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเมาขับ แยกได้ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ

               1. ผู้ขับขี่รถในขณะมึนเมา 

               2. ผู้อยู่ในรถที่ผู้ขับขี่รถในขณะมึนเมา

               3. ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

               4. เหยื่อหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหาย

               5. ครอบครัวของเหยื่อ

               6. ชุมชน/สังคม

 

               กฎหมายจราจรทางบกในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ได้กำหนดมาตรการป้องปรามบุคคล ที่เป็นต้นเหตุในระดับต้น ๆ เช่น บุคคลผู้กระทำผิดโดยตรงเป็นผู้ขับรถในขณะเมาสุรา โดยในแต่ละประเทศกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในเลือดไว้ต่างกัน ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานของกฎหมายเด็ดขาดว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่ ส่วนบุคคลที่นั่งร่วมมากับผู้ขับขี่ที่เมาสุรา มีกำหนดให้รับโทษไว้ เช่น กฎหมายจราจรประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทย คงมีข้อห้ามเพียง ห้ามบุคคลที่โดยสารมากับรถห้ามดื่มสุราในรถ

               สำหรับผู้จัดจำหน่ายและให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานบริการต่าง ๆ จะถูกควบคุม       โดยกฎหมายแยกต่างหากจากกฎหมายจราจรทางบก สำหรับประเทศไทยมีบทบัญญัติที่ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ พ.ร.บ. สุรา โดยมุ่งเน้นควบคุมไปที่ผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นสำคัญ แต่ยังขาดความเชื่อมโยง ความรับผิดของเจ้าของหรือผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์ แล้วผู้ขับขี่รถยนต์เมาสุราไปก่อเหตุความเสียหายขึ้น แต่สำหรับในประเทศญี่ปุ่น ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ได้ห้ามให้สุราหรือสนับสนุนการดื่มสุราแก่ผู้ขับขี่ที่น่าวิตกว่าจะกระทำความผิดขับรถในขณะเมาสุราไว้โดยตรง หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย

             หากประเทศไทยจะกำหนดมาตรการทางกฎหมายให้ครอบคลุมถึง ผู้ขายเหล้า ผู้จัดเลี้ยงให้ “เมาแล้วขับ ต้องรับผิดร่วมกัน” ต้องคำนึงถึงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทีกำหนดโทษเจ้าของสถานบริการหรือร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลบางประเภท เช่น ผู้เยาว์ หรือผู้อยู่ในอาการ มึนเมาจนขาดสติ และหากบุคคลเหล่านั้น ขับขี่รถในขณะเมาสราไปก่อเหตุอันตรายขึ้น เราก็สามารถสืบค้นกลับไปว่า ผู้เยาว์หรือผู้เมาสุราจนขาดสติเหล่านั้น ไปดื่มหรือซื้อสุรามาจากที่ใด เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของร้าน ในความผิดฐานจำหน่ายสุราให้กับบุคคลต้องห้าม   

        แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถบังคับให้เจ้าของสถานบริการหรือร้านค้าผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องร่วมรับผิดกับผู้ขับขี่ที่เมาสุรา จนก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย ของบุคคลที่เป็นเหยื่อได้ โดยให้รับผิดในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา

            ดังนั้นแนวทางการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย หรือรณรงค์ผลักดันให้เจ้าของสถานบริการหรือร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องระมัดระวังในการจำหน่ายสุราแก่นักดื่มที่ต้องขับขี่รถในขณะเดินทาง และต้องมีมาตรการที่ทำให้เจ้าของสถานบริการหรือร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องร่วมรับผิดกับผู้เมาขับ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน ชีวิต  ร่างกาย ของเหยื่อต่อไป โดยมีบทสันนิษฐานของกฎหมายว่า “เจ้าของสถานบริการ ผู้จัดเลี้ยงหรือร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับรถไปก่อเหตุอันตรายต่อทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย ของบุคคลอื่น เจ้าของหรือผู้ประกอบการนั้น ต้องร่วมรับผิดกับผู้เมาขับด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีส่วนผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หรือมีส่วนสนับสนุนทั้งทางตรง ทางอ้อม สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้พยายามแล้วที่จะว่ากล่าว ตักเตือน ห้ามปราม ป้องปราม ผู้ที่เมาแล้วขับ รวมไปถึงได้แสดงเจตนาความรับผิดชอบในฐานะผู้ค้า ผู้ขาย ผู้จัดเลี้ยง ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่พิสูจน์ให้สาธาณะเห็นว่า ผู้ค้า ผู้ขาย ผู้จัดเลี้ยงมีความห่วงใย ความรับผิดชอบ ความตระหนักในภัยอันตรายจากการเมาแล้วขับ อาทิเช่น มีการแจ้งเตือนผู้ที่ดื่มให้ทราบถึงสถานะในขณะนั้น มีบริการเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ มีบริการโทรเรียกรถท็กซี่ มีบริการโทรเรียกผู้ขับรถรับ- ส่ง มีบริการรถขนส่ง มีบริการสถานที่นอนพัก มีบริการรับฝากรถ ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101