รวมพลังจักรยานทั่วประเทศล่า 1 ล้านชื่อ
ยื่นนายกฯขอ "เมาขับจับขัง" ไม่รอลงอาญา
วันนี้ 23 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องไกรทอง โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
เครือข่ายผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดแถลงข่าวโครงการรณรงค์ “เมาขับจับขัง” เพื่อขอให้สังคมเห็นด้วยกับการใช้ยาแรงกับผู้ที่เมาแล้วขับ คาดว่าจะลดคนเมาแล้วขับได้แน่นอน
นายกฤษดา กำแพงแก้ว ประธานโครงการรณรงค์ “เมาขับ จับขัง “ เปิดเผยว่า
โศกนาฎกรรมนักปั่นจักรยานถูกคนเมาแล้วขับชนเสียชีวิต 3 ศพ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้กลุ่มนักปั่นจักรยาน มีความเห็นพ้องกันว่าถ้ายังมีคนเมาขับรถอยู่บนท้องถน ก็ยังไม่สามารถจะรับประกันความปลอดภัยได้ มีโอกาสเสียชีวิตสูงมากจึงมีแนวความคิดที่จะขอให้ผู้มีอำนาจได้ใช้ยาแรงกับพวกที่เมาแล้วขับ โดยเห็นว่าหากใช้โทษกักขังหรือจำคุกแบบไม่รอลงอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแก้ไขกฎหมายเดิมแต่อย่างใดก็จะทำให้พวกที่เมาแล้วขับเกิดความเกรงกลัวและไม่กล้ามาขับรถอีก จึงได้รวมตัวกันรณรงค์ล่ารายชื่อของประชาชนที่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เพื่อนำไปมอบให้กับนายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกาเพื่อช่วยให้แนวคิดดังกล่าวได้เป็นจริงขึ้นมา โดยตั้งเป้าล่าให้ได้ 1,000,000ชื่อ แล้วจะมอบให้นางสาวก้องกานต์ ย่องลั่น บุตรสาวของนายชัยรัตน์ ย่องลั่น 1 ในเหยื่อผู้สูญเสียขี่จักรยานจากเชียงใหม่ นำรายชื่อดังกล่าวไปมอบให้กับนายกฯ โดยจะออกเดินทางในวันที่ 3 มิถุนายน 2558 พร้อมกับนักปั่นจักรยานของชมรม
สันทราย ผ่านจังหวัดลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา คาดว่าจะถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 9 มิถุนายน 2558 โดยนางสาวก้องกานต์ ได้กล่าวว่า “ชีวิตของคุณพ่อคงไม่มีวันที่จะหวนกลับคืนมาได้ แต่หากความตายของคุณพ่อสามารถทำให้เกิดยาแรงกับพวกเมาแล้วขับได้คุณพ่อก็จะไม่ตายฟรี”
นายกิตติ สุวัฒน์เมฆินทร์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้จักรยานประเทศไทย กล่าวว่า
“พอทราบข่าวว่าทางเชียงใหม่จะปั่นจักรยานรณรงค์ “เมาขับจับขัง” จึงชักชวนเพื่อนนักปั่นจากทุกภาคมาร่วมกันปั่นเพื่อมาสมทบกับขบวนของเชียงใหม่ที่กรุงเทพฯ ดังนั้นนอกจากจะมีนักปั่นจากภาคเหนือที่เป็นแกนหลักแล้ว ยังมีนักปั่นจากภาคใต้ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มาร่วมกันล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านชื่อ เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ “
ทางด้านนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า
เห็นด้วยกับการใช้ยาแรงดังกล่าว ที่ผ่านมา 20ปีมูลนิธิเมาไม่ขับได้รณรงค์มาตลอด แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรในปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ1 ในทวีปเอเชีย ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิต 24,000 คน บาดเจ็บกว่า 1,00,000 คน พิการอีกกว่า 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี และความสูญเสียดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับ แม้ว่าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนเมาแล้วขับอยู่ในขั้นที่เบาส่วนใหญ่จะแค่ปรับและคุมประพฤติส่วนโทษจำคุกมักรอลงอาญา ทำให้คนไม่เกรงกลัวและพร้อมที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย
ทั้งนี้จากงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ได้ทำการวิจัยไว้พบว่า ผู้ที่เมาแล้วขับกว่าร้อยละ 90 มีความเห็นว่าถ้าบทลงโทษของกฎหมายมีความรุนแรงถึงขั้นจำคุกหรือกักขัง ผู้ที่เมาแล้วขับจะไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากกลัวบทลงโทษที่จะได้รับ
“ต่อจากนี้ไป จะไม่รณรงค์แค่เมาไม่ขับเท่านั้น แต่จะเพิ่มเป็น เมาขับจับขัง และจะเป็นก้าวใหม่ในการขับเคลื่อนของมูลนิธิเมาไม่ขับ อยากวิงวอนไปยังผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมขอให้ลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับสถานหนัก เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตของคนไทยซึ่งจะเป็นการคืนความสุขให้คนไทยได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวในที่สุด