เปิดโครงการ “ผู้ว่าห่วงหัวเด็ก
วันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดโครงการผู้ว่าห่วงหัวเด็ก โดยมีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี นายกเทศมนตรีจังหวัดชลบุรี นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัวและเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ มร.โทมี่ ลัทวา–คิสโคลา ผู้จัดการสาขาประเทศไทยและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ และประธานกลุ่ม AIG ประเทศไทย ร่วมในพิธีเปิดโครงการ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในจังหวัดชลบุรี ให้เกียรติร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า
จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีการใช้รถจักรยานยนต์มากจังหวัดหนึ่ง พฤติกรรมที่น่าห่วงใยก็คือการไม่สวมหมวกกันน็อก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเชื่อว่าการขับขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งบุตรหลานระยะใกล้ ๆ ไม่อันตรายอะไร ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด ซึ่งในทางกฎหมายการที่พ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วไม่สวมหมวกกันน็อก ถือว่ามีความผิดตาม พรบ.จราจรทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และพรบ.คุ้มครองเด็กมาตรา 26 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะสามารถบังคับใช้กฎหมายในการจับเด็กเยาวชนไม่สวมหมวกกันน็อกได้ จังหวัดชลบุรีจึงได้ร่วมกับชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ กลุ่มบริษัท เอไอจี ประเทศไทย (AIG) จังหวัดชลบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการผู้ว่าห่วงหัวขึ้น ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จัดหาหมวกกันน็อกใส่ให้บุตรหลาน เพื่อปกป้องชีวิตของลูกน้อย
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า
ในเบื้องต้นจังหวัดชลบุรี ชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. กลุ่มบริษัท เอไอจี ประเทศไทย (AIG) จังหวัดชลบุรี ได้จัดทำหมวกกันน็อก จำนวน 2,000 ใบ แจกให้กับเยาวชนเพื่อเป็นการนำร่องโครงการผู้ว่าห่วงหัว หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลโครงการเพื่อขยายโครงการให้ครอบคลุมให้ทั่วจังหวัดชลบุรี
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัวและเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า
เด็กเมื่อเกิดมาจำต้องได้รับการปกป้องดูแลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคจากบาดทะยัก โรคคอตีบ ไอกรน โปลิโอ ฯลฯ และถือเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ การจัดหาหมวกกันน็อกใส่ให้บุตรหลานเมื่อนำเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนป้องกันศีรษะให้กับบุตรหลาน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะยินยอมหรือไม่ ชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ จึงขอเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมกันปกป้องชีวิตเยาวชนไทยด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่นำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ จัดหาหมวกกันน็อกให้บุตรหลานใส่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นบุคคลสำคัญมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ ถ้าจะเพิ่มภารกิจอีกหนึ่งภารกิจ คือการห่วงหัวประชาชน ภายใต้โครงการผู้ว่าห่วงหัวก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมวินัยจราจรของประชาชนและลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรด้วย นายแพทย์แท้จริงกล่าว
มร.โทมี่ ลัทวา –คิสโคลา ผู้จัดการสาขาประเทศไทยและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ และประธานกลุ่ม AIG ประเทศไทย เปิดเผยว่า
เอไอจีทั่วโลก มีนโยบายร่วมดูแลสังคมชุมชนที่เอไอจีมีส่วนอยู่ด้วย ภายใต้แนวคิด “Make the world a safer place” หรือ “สร้างสรรค์โลกให้ปลอดภัยกว่าเดิม” โดยเน้นที่กิจกรรมสามด้านคือ ส่งเสริมความปลอดภัย (Safety) ส่งเสริมความมั่นคง (Security) และช่วยเยียวยาเมื่อมีภัย (Disaster Relief) สำหรับในประเทศไทยการสนับสนุนให้เด็กใช้หมวกกันน็อกร่วมกับชมรมคนห่วงหัว นับเป็นกิจกรรมหลักด้านการส่งเสริมความปลอดภัย เอไอจี ขอขอบคุณ มูลนิธิเมาไม่ขับ ชมรมคนห่วงหัว ที่ให้เราได้ร่วมคิดร่วมสนับสนุนโครงการ “ผู้ว่าห่วงหัว” นี้และหวังว่าจะมีผู้เห็นความสำคัญท่านอื่นๆ มาร่วมกันสนับสนุนชมรมคนห่วงหัวอย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมไทยต้องใช้เงินกว่า 3 พันล้านบาทเพื่อที่จะให้เด็กไทยทั้ง 2.1 ล้านคน ได้มีหมวกกันน็อกสวมใส่ไปโรงเรียนทุกวันครบทุกคน