มาตรา 378 ผู้ใดเสพย์สุรา หรือของเมาอย่างอื่น จนเป็นเหตุให้คน เมา ประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติ ไม่ได้ ” ขณะอยู่ใน ถนนสาธารณะ หรือ สาธารณสถาน” ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
“กฎหมาย ไม่ใช่ตัวความยุติธรรม แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น กฎหมายจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย”
เมาแล้วขับขี่รถจักรยาน กับ เมาแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์ ต่างกันยังไง ทำไมอันนึงผิดกฎหมาย อีกอันกลับไม่ผิด แน่นอนว่าปั่นจักรยานไปชนใครก็คงไม่ถึงกับตายหรอก แต่ถ้าเมาแล้วปั่นส่ายไปส่ายมา หรือไปตัดหน้ารถคันอื่นให้เค้าต้องหักหลบกระทันหันอุบัติเหตุร้ายแรงก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ต่างจากกรณีเมาแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์
แล้วทำไมศาลบอกว่าไม่ผิด????
กรณีนี้น่าสนใจ อยากรู้ว่าทำไมศาลจึงตัดสินใจแบบนั้น แล้วทำไมอัยการถึงฟ้อง ทำไมตำรวจถึงจับผู้ต้องหามา
พรบ.จราจร พ.ศ.2522 ม.43(2) บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุรา...
ม.4(15) บัญญัติว่า รถ หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิดเว้นแต่รถไฟและรถราง
ม.4(18) บัญญัติว่า รถจักรยาน หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังของผู้ขับขี่ที่มิใช่เป็นการลากเข็น
ม.4(28) บัญญัติว่า ผู้ขับขี่ หมายความว่า ผู้ขับรถ
ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ คำว่า ขับ หมายถึง ก.ต้อนให้ไป, บังคับให้ไป, ไล่, ไล่ตาม, บังคับให้เคลื่อนไปได้ เช่น ขับเกวียน ขับรถม้า
พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2477 ม.29(2) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ห้ามมิให้ผู้ใดขับรถ (รวมจักรยานด้วย) เมื่อได้เสพสุราจนหย่อนความสามารถในอันจะขับ “ จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในปีดังกล่าวซึ่งการใช้รถใช้ถนนยังไม่มากเท่าในปัจจุบัน กฎหมายยังบัญญัติไว้เช่นนั้น และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปีพ.ศ.2522 (ซึ่งออกพรบ.จราจรทางบกฉบับปัจจุบัน) การใช้รถใช้ถนนมากขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่ผู้บัญญัติกฎหมายจะมีเจตนารมณ์ให้กฎหมายไทยถอยหลังลงคลอง ให้ความปลอดภัยในท้องถนนลดน้อยลง (พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2477 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/722PDF)
สำหรับคนเมาที่เดินเท้า แม้ไม่ได้ขับขี่ ก็อาจมีความผิดได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 378 หากเมาจนประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ ขณะอยู่ในถนนสาธารณะหรือสาธารณสถาน และหากเมาแล้วเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุตามมา มีคนได้รับบาดเจ็บหรือตาย ก็ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 390 , 300 ,291
กฎหมายจะเป็นธรรมหรือไม่ ยังไงก็ต้องอาศัยการตีความของผู้ใช้ กฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน กรณีที่เป็นข่าวนี้ก็เช่นกัน ตำรวจเห็นผู้ต้องหากำลังเมามาก หากปล่อยให้ขับขี่รถจักรยานต่อ น่าจะเกิดอันตรายแก่ตัวเค้าเองและคนอื่นได้ ก็เลยจับ อัยการตีความกฎหมายแล้ว เห็นว่าผิด ก็ฟ้อง แต่ศาลตีความว่าไม่ผิด ก็ยกฟ้อง ซึ่งจะเห็นไดว่า...ทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุดแล้ว