ระดมสมองถกปัญหาเมาแล้วขับ
ชี้ประเด็นประมาทหรือเจตนาเล็งเห็นผล
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2559 ที่ห้องประกายเพชร โรงแรมเอเชีย มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ ภาคเอกชน เปิดเวทีสาธารณะ เมาขับ เป็นแค่ความประมาทจริงหรือ? โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วยนายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายพงษ์เดช
วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกา นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ นายเจษฏา แย้มสบาย เหยื่อเมาแล้วขับ โดยมีผู้แทนภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุ และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า
ปัญหาเมาแล้วขับเป็นที่ถกเถียงกันมากในสังคมไทย ทุกครั้งที่เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับพฤติกรรมผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ กระแสผู้คนในสังคมก็จะก่อตัวขึ้นเรียกร้องให้มีการจัดการกับผู้ที่เมาแล้วขับอย่างเด็ดขาดและจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก ในฐานะที่มูลนิธิเมาไม่ขับเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับ มา 20 กว่าปี เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหา การเมาแล้วขับ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในอนาคต การจัดเวทีสาธารณะ “ เมาขับ เป็นแค่ความประมาทจริงหรือ ? ถือเป็นการเปิดรับ เพื่อฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า
ผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีแนวทางในการตัดสินอรรถคดีตามกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว คดีเมาแล้วขับ มิใช่ว่าผู้พิพากษาจะพิจารณาจะตัดสินให้ผู้เมาแล้วขับเป็นผู้ประมาทเสมอไป ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย
นายเจษฏา แย้มสบาย เหยื่อเมาแล้วขับ เปิดเผยว่า
สังคมไทยเห็นใจผู้กระทำความผิดมากกว่าผู้ตกเป็นเหยื่อ กรณีเมาแล้วขับ มีการเรียกร้องให้ลงโทษผู้ที่ก่อเหตุในสถานหนักด้วยโทษจำคุกหรือกักขัง โดยไม่รอลงอาญามานาน แต่ก็มีกระแสคัดค้านว่าเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป จะทำให้ผู้เมาแล้วขับเสียอนาคต ขณะที่เหยื่อผู้ถูกกระทำ สังคมกลับเมินเฉย
นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า
สิทธิ์ในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 20 ปี พึงกระทำได้ แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับรถ เป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นบนท้องถนน ดังนั้น ผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ย่อมได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์