หมอแท้จริงจับมือตร.-ป่อเต็กตึ้ง ลดอุบัติเหตุ
เผยปี 52 เมาขับฉลองตรุษจีน ตาย 136 ศพ
ปลุกเสกพระสังกัจจายน์แจกเป็นสิริมงคล
นายแพทย์
เทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน กำลังจะเวียนบรรจบมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจากสถิติตัวเลขอุบัติเหตุจราจรถือได้ว่าเทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเมาแล้วขับมากเป็นอันดับสี่รองจากเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลลอยกระทง ทั้งนี้เมื่อเทศกาลตรุษจีนปี 2552 ที่ผ่านมา 24-27 มกราคม 2552 มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 136 คน บาดเจ็บ 708 คน ลดลงจากเทศกาลตรุษจีนปี 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 140 คน บาดเจ็บ 816 คน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากเทศกาลตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันวาเลนไทน์และตรงกับวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะมีพี่น้องประชาชนเดินทางไปทำบุญ และท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้มีความเชื่อกันว่าเป็นปีเสือดุ จึงขอเตือนผู้ที่จะเดินทางให้ระมัดระวัง เมาต้องไม่ขับอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นต้องโทรไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ขับไม่เร็ว เคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนที่จะเดินทางไปเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษจีน มูลนิธิเมาไม่ขับจึงได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง กรุงเทพมหานคร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด กรมป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย บริษัท เอพีฮอนด้า จำกัด สำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครเหนือ บริษัท โตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย จำกัด สสส. และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดโครงการตรุษจีนเมาขับถูกจับแน่ โดยจะมีการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่อย่างเข้มงวดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2553 นอกจากนี้แล้ว มูลนิธิเมาไม่ขับได้จัดทำพระสังกัจจายน์ ชุบทองขนาด 1x1 ซม. บรรจุในกล่องสีแดง โดยได้รับความเมตตาจากพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยากรณ์ เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) เยาวราช กรุงเทพฯ ปลุกเสกให้
ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้ขับขี่ทั้งหลายอย่าไปเมาแล้วขับ อย่าขับรถด้วยความประมาท เพราะพระสังกัจจายน์ไม่สามารถคุ้มครองได้ ถ้าผู้ขับขี่ดำรงตนอยู่ในความประมาท
โดยจะมีพิธีแจกพระสังกัจจายน์ให้กับประชาชนเพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสเทศกาลตรุษจีนในวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา12.30 น. ณ ลานหน้าวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)เยาวราช กรุงเทพฯ โดยมีพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษาสบ.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี
ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดให้ถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งระบุว่าเป็นผู้เกิดปีขาล หรือปีที่ชงกับ
ปีขาลได้แก่ปีวอก ปีมะเส็ง และปีกุน จ่าหน้าถึงตัวท่านเองพร้อมสอดซองติดแสตมป์ 5 บาท ส่งมาที่ มูลนิธิเมาไม่ขับ 28/12 ซอยสุขุมวิท 19 (วัฒนา) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
หมดเขตวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ดูข้อมูลข่าวตรุษจีน ,ประวัติพระสังกัจจายน์ คลิ๊กได้ที่ www.ddd.or.th สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนเมาไม่ขับ 1717
พ.ศ.ของผู้ที่เกิดปีขาลและปีชงกับปีขาล
ปีขาล ปีวอก ปีมะเส็ง ปีกุน
พ.ศ.2469 2475 2472 2478
พ.ศ.2481 2487 2484 2490
พ.ศ.2493 2499 2496 2502
พ.ศ.2505 2511 2508 2514
พ.ศ.2517 2523 2520 2526
พ.ศ.2529 2535 2532 2538
พ.ศ.2541 2547 2544 2550
พ.ศ.2553
พระสังกัจจายน์ (มี่เล่อฝอ) 弥勒佛
ผู้บันดาลโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์ ปัญญา และเมตตามหานิยม
“พระสังกัจจายน์” หรือ “มี่เล่อฝอ” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์” เป็นคำเรียกกันทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเป็นองค์เดียวกันกับคำเรียกทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยานคือ “พระศรีอาริย์” (พระศรีอาริยเมตไตรย) อันเป็นคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่หมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ที่จะบังเกิดมาในอนาคตกาล ณ เวลานั้น เชื่อกันว่า สันติสุขอันแท้จริงจะบังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ
รูปลักษณะของพระสังกัจจายน์ (พระศรีอาริย์) ตามแบบคติแบบจีนนั้น จะเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะอ้วนพลุ้ยเปลือยอก มีใบหน้าที่สดชื่นร่าเริง สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และมักหัวเราะเริงร่าอยู่เสมอ สองหูยาวจรดบ่ามักเห็นท่านในลักษณะท่าทางนั่งอย่างสบายอารมณ์หรือนั่งและมีเด็กๆ วิ่งรายล้อมอยู่รอบตัวพระสังกัจจายน์ เด็กๆที่ปีนป่ายอยู่รอบตัวท่านจะต้องเป็นเด็กผู้ชายจำนวน 5 คน เด็กชาย 5 คน เป็นความหมายแฝงที่หมายถึง
“อู่ฝู” หรือความสุข 5 ประการ อันถือเป็นความสุขที่เที่ยงแท้ของชีวิตมนุษย์ ซึ่งได้แก่
ความสุขที่หนึ่ง คือ ฉางโซ่ว หมายถึง มีอายุอันยืนยาว
ความสุขที่สอง คือ ฟู่กุ้ย หมายถึง มั่งคั่งร่ำรวย
ความสุขที่สาม คือ คังหนิง หมายถึง สุขภาพดีปราศจากโรคภัย
ความสุขที่สี่ คือ เห่าเต๋อ หมายถึง คุณธรรมอันประเสริฐ
ความสุขที่ห้า คือ ซ่านจง หมายถึง การตายอย่างสงบสุข
ในตำนานพุทธสาวกทั้ง 80 องค์ กล่าวว่า พระสังกัจจายน์ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตร หรือกัจจายนโคตร ในแผ่นดินของพระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี เมื่อกัจจายนะกุมารเจริญวัย เรียนจบไตรเพท บิดาได้ถึงแก่กรรม จึงได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา
พระสังกัจจายน์ เป็นผู้มีมีรูปงาม ผิวเหลืองดุจทอง ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีโสเรยยะบุตรเศรษฐีคะนองเห็นพระสังกัจจายน์จึงปากพล่อยกล่าวว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปกายงดงามเยี่ยงท่านนี้จักพอใจยิ่งพลันปรากฏว่าโสเรยยะบุตรมหาเศรษฐีหนุ่มคะนองปาก ได้กลายเป็นหญิงในทันทีจึงหลบหนีไป ต่อมาได้สามีและบุตรสองคน จึงกลับมาขอขมากับพระสังกัจจายน์ โสเรยยะจึงกลับคืนสู่เพศชายเช่นเดิม นับว่าพระสังกัจจายน์มีฤทธิ์อำนาจยิ่งองค์หนึ่งในพุทธสาวก
มีเรื่องเล่าขานกันว่าเพราะรูปกายอันงดงามของพระสังกัจจายน์ สร้างความปั่นป่วนแก่อิตถีเพศอย่างมาก จึงได้เนรมิตกายใหม่ให้อ้วน พุงพลุ้ย น่าเกลียด เพื่อความสงบแห่งจิตและกิเลส
ครั้นต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบว่าพระศาสดาตรัสรู้แล้วเสด็จเที่ยวโปรดสัตว์สั่งสอน ประชุมชนธรรมะที่พระองค์สอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์แก่ผู้ประพฤติตาม จึงมีพระประสงค์ใคร่เชิญเสด็จพระบรมศาสดาไปประกาศที่กรุงอุชเชนี จึงรับสั่งให้กัจจายนะปุโรหิตไปทูลเสด็จกรุงอุชเชนี
กัจจายนะปุโรหิตพร้อมด้วยผู้ติดตาม 7 คน จึงออกจากกรุงอุชเชนี ครั้นมาถึงจึงพากันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเทศน์สั่งสอน ในที่สุดบรรลุอรหันต์ทั้ง 8 คน หลังจากนั้นทั้ง 8 ก็ทูลขออุปสมบท ทรงขออนุญาต ครั้นอุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญเสด็จกรุงอุชเชนีตามหน้าที่ พระองค์รับสั่งว่า
“ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้ว พระเจ้าปัชโชตจักทรงเลื่อมใสท่าน”
พระพุทธเจ้าทรงตรัสยกย่องพระสังกัจจายน์ว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายแห่งการย่อคำพิสดาร
พุทธคุณที่โดดเด่นของพระสังกัจจายน์นั้น ไม่ได้อยู่ที่การบันดาลโชคลาภแต่ประการเดียว หากเกี่ยวข้องกับเมตตามหานิยมและสติปัญญาด้วย