ชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ ชี้เด็กไทยไม่ปลอดภัย ขอพ่อแม่ใส่ใจหมวกกันน็อก ผ่านโครงการพ่อจ๋า แม่จ๋า ใส่หมวกกันน็อกให้หนูหน่อย
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า สถิติเด็กและเยาวชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนอันเกิดจากรถจักรยานยนต์ นับวันจะมีสถิติสูงขึ้นอย่างน่าวิตก ปัจจัยสำคัญเกิดจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลาน ไม่ให้ความสำคัญในการจัดหาหมวกกันน็อกสวมใส่ให้บุตรหลาน ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายหมวกกันน็อกในกลุ่มเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเกรงกระแสต่อต้านจากสังคม รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่มีหน้าที่ในการดูแลเด็กและเยาวชนไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องความปลอดภัยของเด็ก ๆ จึงทำให้สถิติการสวมหมวกนิรภัยของเด็กเยาวชนมีสถิติที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มเด็กเยาวชนสวมหมวกนิรภัย เพียงร้อยละ 7
จากการที่เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ชมรมคนห่วงหัว มูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. ได้ลงพื้นที่สำรวจปัจจัยเสี่ยงในการเดินทางของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีเด็กและเยาวชนหลายล้านชีวิต ต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงในการเดินทางมาโรงเรียนทุกวัน ด้วยทัศนคติความเชื่อที่ผิดๆ ว่า การไม่ใส่หมวกกันน็อกให้บุตรหลานเมื่อต้องนำเขาโดยสารรถจักรยานยนต์ ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ทั้งนี้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ความสำคัญกับการจัดหาหมวกกันน็อกสวมใส่ให้เมื่อต้องเดินทาง
เหตุนี้ เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ชมรมคนห่วงหัว และมูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. จึงได้ร่วมกันจัด โครงการพ่อจ๋า แม่จ๋า ใส่หมวกกันน็อกให้หนูหน่อย โดยกิจกรรมที่จัดขึ้น ก็เพื่อเรียกร้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็ก ในวันที่ 16 มีนาคม 2561 เวลา 16.30 น. บริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยจะมีเด็กและเยาวชน เหยื่อเมาแล้วขับ อาสาสมัคร จิตอาสา ประชาชน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมป้ายข้อความรณรงค์ อาทิเช่น พ่อจ๋า แม่จ๋า ใส่หมวกให้หนูหน่อย ลุงตู่จ๋าเห็นหัวหนูหน่อย หมวกกันน็อกหนูอยู่ไหน พ่อจ๋า แม่จ๋า หนูยังไม่อยากตาย ออเจ้ามีอันใดคุ้มกบาลหรือยัง ออเจ้าอย่าลืมใส่หมวกกันกบาลให้ลูกหลาน พร้อมทั้งสื่อรณรงค์แจกจ่ายให้ประชาชนที่สัญจร โดยกิจกรรมโครงการพ่อจ๋า แม่จ๋า ใส่หมวกให้หนูหน่อย จะดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวัน เวลาดังกล่าว สำหรับในกรุงเทพฯ นอกจากบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แล้วจะมีที่บริเวณสี่แยกบางเขน บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสี่แยกรัชดา บริเวณวงเวียนใหญ่ บริเวณสี่แยกสีลม บริเวณสี่แยกคลองเตย บริเวณสี่แยกอโศก บริเวณสี่แยกปทุมวัน บริเวณสี่แยกลำสาลี ส่วนในต่างจังหวัดจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดจันทบุรี ฯลฯ
นายแพทย์แท้จริง กล่าวต่อว่า เสียงสะท้อนของเด็ก ๆ เป็นเสียงที่บริสุทธิ์ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนต้องรับฟัง สิ่งที่ชมรมคนห่วงหัว มูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ แปลกใจก็คือ ปัจจุบันรัฐจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับเด็กมากมาย ตั้งแต่นโยบายเรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี หนังสือเรียนฟรี นมโรงเรียนฟรี ชุดนักเรียนฟรี แต่การปกป้องเยาวชนของชาติด้วยการสนับสนุนหมวกกันน็อกให้เด็กภาครัฐกลับละเลยไม่ใส่ใจ ส่งผลให้มีสถิติเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ สูงอย่างน่าวิตก ซึ่งข้อมูล 3 ฐานจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าในปี พ.ศ.2559 มีเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ 5,925 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี 3,717 คน นับเป็นความสูญเสียที่ยากต่อการประเมินค่า เพราะเด็กเยาวชนเหล่านี้กำลังเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ แต่ต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองใส่ใจ ดูแลบุตรหลาน ด้วยการจัดหาหมวกกันน็อกสวมใส่ให้เขา
แยกคลองเตย กทม.
ปทุมวัน กทม.
พระราม 9 กทม.
สี่แยกบางเขน กทม.
แยกอโศก กทม.
แยกลำสาลี กทม.
แยกสีลม กทม.
ราชประสงค์ กทม.
วงเวียนใหญ่ กทม.
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม.
จังหวัดกาญจนบุรี
จังหวัดจันทบุรี
จังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดสงขลา