ประวัติปี่เซียะ
ปี่เซียะ (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ ผีซิว (สำเนียงกลาง) หรือ เผยเหย้า (สำเนียงกวางตุ้ง) (อังกฤษ: Pixiu, Pi Yao; จีน: 貔貅; พินอิน: pí xiū) เป็นสัตว์ประหลาดตามความเชื่อของจีนมาแต่โบราณ
เชื่อว่า ปี่เซียะ มีรูปร่างและเขาคล้ายกวาง แต่มีหน้า, หัว, ขาคล้ายสิงโต, มีปีกคล้ายนก, หลังคล้ายปลา และมีส่วนหางคล้ายแมวปนไปด้วยท้องและบางส่วนของหัวคล้ายมังกร เป็นสัตว์สี่ขา และเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ช่วยป้องกันและปัดเป่าภยันตรายและภูตผีปีศาจ สิ่งไม่ดีต่าง ๆ ได้ เชื่อว่าถูกแบ่งเป็นตัวผู้ชื่อ ปี่ (貔) และ ตัวเมียชื่อ เซียะ (貅)
นอกจากนี้แล้วยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น เทียนลู่ (天祿) หรือ เทียนลก (天樂) ตามแต่ละพื้นที่อีกด้วย ซึ่งความหมายของชื่อเหล่านี้ แปลได้ว่า กวางสวรรค์ หรือ ขจัดปัดเป่า
เชื่อกันว่า ปี่เซียะ เป็นลูกตัวที่ 9 ของมังกร เป็นสัตว์ที่กินเก่งและไม่มีรูทวาร จึงไม่มีการขับถ่าย ในปลายยุคราชวงศ์โจว ตรงกับยุคชุนชิว มีการนำปี่เซียะมาใช้เป็นสัญลักษณ์โดยประดับเป็นรูปบนธงสำหรับการออกรบ โดยรวมในอดีตสันนิษฐานว่า ปีเซียะให้ความหมายในทางความกล้าหาญ การปกป้องคุ้มภัย และการต่อสู้เพื่อจะให้ได้มาซึ่งชัยชนะ
นอกจากนี้แล้ว ปี่เซียะยังเป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์และคุ้มครองทรัพย์สมบัติอีกด้วย อันเนื่องจากการที่เป็นสัตว์ที่กินอย่างเดียวไม่มีการขับถ่าย จึงมีการปั้นเป็นรูปปั้นเฝ้าหน้าท้องพระโรง ภายในพระราชวัง เช่น ฮ่องเต้ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงและประเทศจีน
ปัจจุบัน มีการบูชาปี่เซียะ โดยมักทำเป็นรูปเคารพของสัตว์ที่มีลักษณะดังกล่าวในลักษณะหมอบ และมักทำเป็นคู่กัน โดยจะตั้งวางให้สอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ยด้วย อีกทั้งยังเป็นที่บูชาของนักพนัน ผู้ที่นิยมเสี่ยงโชคในลักษณะวัตถุมงคล จากการที่เป็นสัตว์ที่กินอย่างเดียวไม่มีถ่าย จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเก็บทรัพย์ ซึ่งกาสิโนบางแห่งในประเทศจีน, มาเก๊า และฮ่องกง จะมีรูปปั้นปี่เซียะนี้อยู่ด้านหน้าด้วย