หมอแท้จริงวาดฝันเมาไม่ขับเปลี่ยนไป
ผ่านมา 27 ปี กับ 10 นายกรัฐมนตรี
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยในโอกาสมูลนิธิเมาไม่ขับครบรอบ 27 ปี การก่อตั้งในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ว่า ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว บุคคลที่ตนขอเอ่ยถึงและกราบขอบคุณคนแรกที่เป็นผู้จุดประกายให้เกิดมูลนิธิเมาไม่ขับคือศาสตราจารย์นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ขณะนั้นอาจารย์วิทุร ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านเป็นผู้มองการณ์ไกล เห็นปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการเมาแล้วขับการให้หมอตั้งรับรักษาอย่างเดียวโดยไม่ป้องกันเป็นการแก้ไขที่ไม่ตอบโจทย์ท่านจึงสั่งการให้ตนไปทำโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยกำชับว่าอย่างเอาโครงการนี้ไปไว้ที่หน่วยราชการนะ มันจะไม่เติบโต ให้ทำในรูปแบบของเอ็นจีโอจะเกิดความคล่องตัว และเป็นอิสระในการทำงานมากกว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 27 ปี มูลนิธิเมาไม่ขับผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านมรสุมต่าง ๆ มากมาย บุคคลท่านที่สองที่ตนขอกล่าวถึงคือคุณดำรง พุฒตาล ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ พี่ชายที่แสนดีของชาวมูลนิธิเมาไม่ขับ บุคคลที่ 3 ที่ตนขอกล่าวถึงคือคุณกฤตวิทย์ ศรีพสุธา กรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ท่านจากพวกเราไปแล้ว ท่านเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ 2 แสนบาทเป็นทุนประเดิมจัดตั้งมูลนิธิเมาไม่ขับ บุคคลที่ 4 ที่ตนขอกล่าวถึงคือพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. อดีตรมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตรมว.กระทรวงแรงงาน เพราะในสมัยนั้นท่านเป็นผู้บังคับการตำรวจจราจรท่านได้ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับจนเป็นรากฐานที่เข้มแข็งจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นแล้วมีหน่วยงานอีกมากมายที่สนับสนุนมูลนิธิเมาไม่ขับให้สามารถทำงานเพื่อประชาชนได้จนถึงวันนี้ อาทิเช่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมคุมประพฤติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ( ศปถ.) บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ฯลฯ
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่มูลนิเมาไม่ขับ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การรณรงค์และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับ ผ่านนายกรัฐมนตรีมาทั้งสิ้น 10 คนได้แก่ นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 10 ท่าน ได้มีส่วนสนับสนุนการรณรงค์และการบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้มูลนิธิเมาไม่ขับคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่รัฐสภาจะมีมติให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้จะประกาศนโยบายลดอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาไม่ขับเป็นนโยบายสำคัญแถลงต่อสภาโดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บของคนไทยให้ลดลง ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศ 4 ปี ภายใต้นโยบายผู้บริหารประเทศ ข้าราชการทุกหมู่เหล่าต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนในการรักษาวินัยจราจรถ้าพบเห็นผู้บริหารระดับสูงข้าราชการทำผิดกฎจราจรจะต้องมีการลงโทษทางวินัยอย่างเฉียบขาดไม่ใช่ปกป้องช่วยเหลือกัน
ตนทำงานมา 30 กว่าปี สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ สังคมไทยเปลี่ยนความคิด มองอุบัติเหตุเป็นปัญหาใหญ่ของชาติไม่ใช่เรื่องเวรกรรมหรือโหมรณรงค์บังคับใช้กฎหมายกันเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ คนทำผิดกฎจราจรมี 2 ประเภท ประเภทแรกรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประมาทเลินเล่อ ประเภทที่ 2 จงใจละมิดกฎหมาย ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่วนร่วมถึงเวลาที่สังคมไทยต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้เสียทีเพราะประเทศไทยเราสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมามากเกินพอแล้ว เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว