แถลงการณ์มูลนิธิเมาไม่ขับโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้รถบัส

3 ตุลาคม 67 / อ่าน : 88

แถลงการณ์มูลนิธิเมาไม่ขับ

 

          ในฐานะมูลนิธิเมาไม่ขับขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากโศกนาฏกรรมรถบัสเกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567

            มูลนิธิเมาไม่ขับองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานสนับสนุนการรณรงค์และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 29 ปี

            ขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดขององค์กร ทั้งนี้เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาลด้านการจราจรในประเทศไทย ด้วยข้อเสนอดังนี้

  1. ขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับกำหนดนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นนโยบายขององค์กร มีการประเมินผลและมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน กรณีผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการละเมิดกฎแห่งความปลอดภัยบนท้องถนนในทุกพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว การขับขี่รถจักรยานยนต์หรือซ้อนท้ายไม่สวมหมวกนิรภัย การขับรถย้อนศร การไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และปรากฏหลักฐานชัดเจน ตรวจสอบได้ ให้ผู้บังคับบัญชากำหนดบทลงโทษทางวินัย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับข้าราชการคนอื่น ๆ ทั้งนี้ข้าราชการต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามกฎหมายให้กับประชาชน ไม่ใช่กระทำการละเมิดกฎหมายเสียเองส่วนในกรณีของหน่วยงานภาคเอกชน ขอให้ผู้บริหารองค์กรกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยระเบียบของบริษัท หรือขององค์กรที่มีอยู่ ทั้งนี้การที่พนักงานกระทำการฝ่าฝืนกฎแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของบริษัทและองค์กรในด้านลบ ส่งผลเสียกับองค์กรหรือบริษัทโดยรวม
  1. ขอให้กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่กำกับและดูแลนิสิต นักศึกษา นักเรียน กำหนดนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นหลักสูตรที่นิสิต นักศึกษา นักเรียน ต้องได้รับการเรียนรู้ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในสถาบันการศึกษา ไม่ใช่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยขาดความใส่ใจละเลยในการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียน อาทิเช่น นิสิต นักศึกษา นักเรียน เดินทางมาโรงเรียนด้วยรถจักรยานยนต์ไม่สวมใส่หมวกนิรภัย ทางสถาบันศึกษาไม่มีการกำหนดนโยบาย บังคับ เข้มงวดกวดขันรณรงค์หรือขอความร่วมมือให้ใส่หมวกนิรภัย ส่งผลให้ในแต่ละปีมีเด็กเยาวชนเสียชีวิตจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะขั้นรุนแรงจากรถจักรยานยนต์กว่า 5,000 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย นอกจากนั้นแล้วเด็กนักเรียนระดับอนุบาล ระดับประถมที่พ่อแม่ ผู้ปกครองนำนั่งซ้อนท้ายรถจักรยายนต์ มายังสถานศึกษา กว่าร้อยละ 93 ไม่สวมใส่หมวกนิรภัย ทั้งนี้เกิดจากทัศนคติผิด ๆ ของผู้ปกครองที่เชื่อว่า นำบุตรหลานมาส่งสถานศึกษาระยะใกล้ ๆ ไม่ต้องสวมใส่หมวกนิรภัย ไม่อันตรายใด ๆ หรือเกิดจากสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถซื้อหมวกนิรภัยเด็กให้บุตรหลานได้ ทั้งนี้รวมไปถึงรัฐบาลไม่มีนโยบายส่งเสริมเด็กให้สวมหมวกนิรภัย เพราะติดขัดระเบียบเรื่องการใช้งบประมาณจัดหาหมวกให้เด็กเยาวชน ดังนั้นความปลอดภัยของอนาคตของชาติไม่ควรติดขัดเรื่องระเบียบหรือเรื่องงบประมาณ การส่งเสริมความปลอดภัยขอให้เกิดขึ้นกับลูกหลาน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ เสียงบเท่าไหร่ ผู้มีอำนาจรัฐก็ต้องทำ
  1. ในกรณีนี้มีการจัดประชุม จัดสัมมนา จัดทัศนศึกษาดูงาน จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นอกสถานที่ จัดโครงการอาสาทำความดีเพื่อสังคม ฯลฯ ที่ต้องมีการเดินทางเป็นหมู่คณะ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการตรวจสอบยานพาหนะที่จะใช้เดินทาง ทั้งขององค์กรเราหรือจากหน่วยงานภายนอกที่มาให้บริการ ว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสภาพประจำปี มีการทำประกันภัย ภายในรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วนสมบูรณ์ มีประวัติเคยเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ฯลฯ สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดพนักงานขับรถฝ่านการอบรมเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักสูตรบังคับประจำปี ซึ่งพนักงานขับรถต้องได้รับการอบรมจากหน่วยงาน อย่างเช่น กรมการขนส่งทางบก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ประกอบการมีการประสานเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยจัดอบรมขึ้นเอง และก่อนขึ้นขับรถ ต้องมีการตรวจสภาพความพร้อมของร่างกาย มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์  พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ และระหว่างขับรถห้ามใช้โทรศัพท์อย่างเด็ดขาด ยกเว้นใช้อุปกรณ์เสริม
  2. ในกรณีที่ต้องมีการจัดทัศนศึกษาในกลุ่มเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นเด็กเล็ก ผู้รับผิดชอบต้องเข้มงวดกวดขันพนักงานขับรถเป็นพิเศษ ต้องไม่ขับรถเร็ว ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ทุกรูปแบบ มีการตรวจสภาพความพร้อมของร่างกาย พนักงานขับรถก่อนขึ้นขับรถ ถ้ามีจำนวนรถที่เดินทางมากกว่า 2 คัน ให้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ตำรวจทางหลวงนำขบวน
  3. โศกนาฏกรรมบนท้องถนนกรณีรถบัสนักเรียนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ขอให้กรณีศึกษานี้ทุกภาคส่วนต้องตระหนัก และไม่ละเลยให้ความสำคัญแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง พอเหตุการณ์ผ่านไปก็หลงลืม ไม่ใส่ใจ เหมือนไฟไหม้ฟางเพราะอุบัติเหตุ ไม่ใช่เรื่องเวรกรรม เป็นเรื่องของพฤติกรรม ป้องกันได้ ถ้าไม่ประมาท
  1. ขอให้รัฐบาลแก้กฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำเงินค่าปรับส่วนหนึ่งที่เกิดจากการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิด จนนำไปสู่การดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว มอบให้เจ้าของคลิปผู้บันทึกและเผยแพร่ภาพดังกล่าว

เพื่อเป็นการเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นอาสาตาจราจรช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียในรูปแบบต่าง ๆ

            มูลนิธิเมาไม่ขับ หวังว่าข้อเรียกร้องนี้จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล  ผู้บริหารในทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกระบุจากสื่อต่างชาติว่า เป็นประเทศที่ถนนอันตรายและไม่มีความปลอดภัยที่สุดในโลก ถึงเวลาที่ต้องกำหนดนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน อย่างเป็นรูปธรรม มีการติดตามประเมินผลและตัวชี้วัดอย่างจริงจังเสียที

 

                                                            มูลนิธิเมาไม่ขับ

                                                           2 ตุลาคม 2567

 

 


ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101