ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

9 ตุลาคม 55 / อ่าน : 21,941

 

รวมคำถาม-คำตอบ  

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. ๒๕๕๕ 

 

๑.ประกาศนี้มีผลบังคับใช้เมื่อใด

ตอบ ประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป

 

๒.              ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

ตอบ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ รวมถึงตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และเนื่องจากการฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไปจึงมีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย

 

๓.              คำว่า “ทาง” หมายความถึง ทางอะไรบ้าง

ตอบ คำว่า “ทาง” ตามประกาศฉบับนี้ ให้ใช้นิยามคำว่า “ทาง” ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กล่าวคือ "ทาง" หมายความว่า ทางเดินรถ ช่องเดินรถ ช่องเดินรถประจำทาง ไหล่ทาง ทางเท้า ทางข้าม ทางร่วมทางแยก ทางลาด ทางโค้ง สะพาน และลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางส่วนบุคคลที่เจ้าของยินยอมให้ประชาชนในการจราจรหรือที่เจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศให้เป็นทางตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่ไม่รวมไปถึงทางรถไฟ

ดังนั้น ทางทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของราชการ ไม่ว่าจะมีการจ่ายเงินก่อนผ่านทางหรือไม่ก็ตาม หากประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ทางนั้นในการจราจรหรือสัญจรไปมาได้ ก็ถือเป็น “ทาง” ตามความหมายนี้แล้ว

 

๔.              คำว่า “รถ” หมายความถึง รถอะไรบ้าง

ตอบ คำว่า “รถ” ให้ใช้คำนิยามตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ (๑๕)

"รถ" หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง

ดังนั้น คำว่า รถ ตามกฎหมายนี้รวมถึงยานพาหนะทางบกทุกชนิด เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถม้า เกวียน และเลื่อนหรือรถลากทุกชนิดที่มีการใช้กำลังทั้งเครื่องจักรและสัตว์ทุกชนิด

หมายเหตุ รถตามความหมายนี้ไม่รวมถึง

๑. รถไฟและรถราง

๒. รถเข็นคนพิการ

๓. รถเข็นสำหรับเด็กเนื่องจากถือเป็น คนเดินเท้า (ตามนิยามมาตรา ๔ พระราชบัญญัติจราจร     ทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒) หรือ

๔. สัตว์พาหนะต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย (เนื่องจากมีพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒)

 

๕.              หากมีคนโดยสารนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านโดยมีอาการมึนเมา จะสามารถรับขึ้นรถได้หรือไม่

ตอบ กรณีคนเมานั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน หากไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในรถนั้น ก็ไม่มีความผิด กฎหมายมุ่งเอาผิดเฉพาะผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่ในรถเท่านั้น ดังนั้น ผู้โดยสารที่เพียงแต่มีอาการมึนเมามาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ก็ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

 

๖.จะมีวิธีตรวจสอบอย่างไรในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้

ตอบ ความผิดตามกฎหมายนี้จะต้องมีการพบเห็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยชัดเจน    ซึ่งต้องเป็นความผิดที่พบเห็นซึ่งหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารอยู่บนรถก็ตาม หากพบแต่เพียงว่ามีอาการมึนเมาหรือพบขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ก็อาจยังไม่ใช่ความผิดสมบูรณ์ เพียงแต่มีเหตุสงสัยให้สอบถามหรือตักเตือนก่อนได้

 

๗.            บนรถไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าใต้ดินจะสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่

ตอบ คำว่า “รถ” ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง

ดังนั้น รถไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ถือเป็นรถประเภทเดียวกันกับรถไฟและรถราง จึงไม่ถูกควบคุมตามกฎหมายนี้

 

๘.              กรณีพบเห็นผู้กระทำผิดซึ่งหน้า ประชาชนสามารถจับกุมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีได้หรือไม่

ตอบ ประชาชนไม่มีอำนาจจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าในความผิดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับดังกล่าว แต่สามารถแจ้งต่อตำรวจให้จับกุมผู้กระทำความผิดนั้นได้ เนื่องจากตำรวจมีอำนาจจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ

ประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว สามารถแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ดังนี้

๑.   แจ้งด้วยวาจาต่อตำรวจที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

๒.  โทรศัพท์แจ้งไปยังสถานีตำรวจในท้องที่นั้น

๓.  โทร ๐๒ ๕๙๐ ๓๓๔๒ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

 

๙.             กรณีผู้โดยสารซื้อเครื่องดื่มขึ้นดื่มบนรถ ผู้ขับขี่จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ หากผู้ขับขี่มิได้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ย่อมไม่มีความผิดตามประกาศนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติการณ์ว่าผู้ขับขี่ได้กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เช่น จัดเตรียมสถานที่หรืออุปกรณ์ภาชนะสำหรับบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้อำนวยความสะดวก เป็นต้น ผู้ขับขี่ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

 

๑๐.        กรณีมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ แต่ไม่ได้บริโภค ไม่เป็นความผิดตามประกาศนี้

 

๑๑.                         กรณีผู้โดยสารนั่งรถสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้โดยสารซื้อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วทิ้งขวดเหล้าหรือกระป๋องเบียร์ไว้ ผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ในประเด็นนี้จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ ผู้โดยสารที่อยู่ในรถ แต่ไม่ได้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีความผิดตามประกาศนี้

 

๑๒.                        กรณีผู้โดยสารเมาพูดจาไม่รู้เรื่องแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ ผู้โดยสารที่มีอาการมึนเมา แต่มิได้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ไม่มีความผิดตามประกาศนี้

 

๑๓.       กรณีจอดรถริมทาง นั่งดื่มในรถมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ เป็นความผิด เนื่องจากประกาศนี้ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ ดังนั้น การจอดรถริมทางดื่มก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ ซึ่งรวมถึงกรณีที่รถจอดอยู่นิ่งๆ ด้วยไม่ว่าจะติดเครื่องหรือไม่ก็ตาม เพราะถือว่าโดยสารอยู่ในรถ

 

๑๔.        กรณีจอดรถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารริมทาง มีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ ไม่เป็นความผิดตามประกาศนี้ เพราะตามกฎหมายนี้ไม่รวมถึงผู้ที่นั่งดื่มบนทางหรือริมทางที่ไม่ได้โดยสารอยู่ในรถ

 

๑๕.                        ถ้าผู้โดยสารปฏิเสธว่าไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานโดยอ้างว่าเป็นของผู้อื่น ผู้โดยสารจะโดนข้อหาขัดขืนการจับกุมหรือไม่ และในทางปฏิบัติกฎหมายให้อำนาจในการตรวจแอลกอฮอล์ได้หรือไม่

ตอบ กรณีที่ ๑ หากมีหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่ใช่ความผิดที่พบเห็นซึ่งหน้า ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมได้ แต่อาจว่ากล่าวตักเตือน และชี้แจงถึงข้อกฎหมายได้

กรณีที่ ๒ หากมีหลักฐานหนาแน่นเพียงพอ เช่น พบเห็นขวด หรือกระป๋องที่เปิดแล้วอยู่ในมือ ประกอบด้วยมีพฤติการณ์ที่อยู่ในลักษณะมึนเมา หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ใกล้เคียงกับความผิดซึ่งหน้าที่เห็นว่ากำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่บนรถ ตำรวจก็สามารถจับกุมได้

ทั้งนี้ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ กฎหมายจราจรทางบกให้อำนาจในการตรวจเฉพาะคนขับเท่านั้น แต่ผู้โดยสาร กฎหมายไม่ให้อำนาจในการตรวจได้ อย่างไรก็ตาม ฐานความผิดตามประกาศฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาการมึนเมาหรือมีระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายในปริมาณที่เกินกว่าที่กำหนด หากพบว่ามีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถก็ถือเป็นความผิดสมบูรณ์แล้ว

 

๑๖. กรณีรถที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบค๊อกเทลเคลื่อนที่ตามแหล่งท่องเที่ยว มีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ ไม่เป็นความผิดตามประกาศนี้ เพราะประกาศนี้ไม่ได้ห้ามการขายบนทาง หรือบนรถ แต่กรณี  รถที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบค๊อกเทลเคลื่อนที่ตามแหล่งท่องเที่ยว จะถือเป็นความผิดฐานเร่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๐(๒) รวมถึงขายโดยไม่มีใบอนุญาตขายสุราด้วย

 

๑๗.      กรณีผู้โดยสารไปเที่ยวสถานบันเทิงหรือไปกินอาหารที่ร้านอาหารทั่วไป หลังจากนั้น นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหลือไว้ในรถ จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่

ตอบ การนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหลือจากการบริโภค ณ สถานที่อื่น แล้วนำเข้ามาในรถ แต่มิได้บริโภคในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามประกาศนี้

 

๑๘.ความผิดตามประกาศนี้เข้าข่ายคดีอาญา สามารถยอมความ หรือเปรียบเทียบปรับได้หรือไม่

ตอบ ความผิดตามประกาศนี้ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว จึงไม่อาจยอมความได้ ซึ่งโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยหากเป็นความผิดครั้งแรกให้ปรับ ๓,๐๐๐ บาท



ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 1
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 2
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 3


ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101