บทความคดีเมาแล้วขับศาลให้รอลงอาญา

16 กรกฎาคม 53 / อ่าน : 29,758


                                                                                                                                                                           สุรสิทธิ์ ศิลปงาม  

ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ 

          08-1443-9953

คดีเมาแล้วขับ

ศาลให้รอลงอาญาทุกกรณีหรือ 

 

          มีข้อความเผยแพร่กันในหมู่นักเที่ยวราตรีเกี่ยวกับมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะบอกถึงกลยุทธ์ในการหลบเลี่ยงเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมดำเนินคดี เริ่มตั้งแต่การประวิงเวลาในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือปฏิเสธการตรวจวัดไปเลย การโวยวายว่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่ได้มาตรฐานและปฏิเสธการตรวจ การโวยวายกล่าวหาว่าตำรวจเลือกปฏิบัติในการตรวจรถ และถ้ายังไม่ได้ผลก็ให้ผู้ขับขี่ทิ้งรถหนีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ไปเลย ฯลฯ ข้อความที่เผยแพร่นี้อาจจะเกิดจากความหวังดีหรือหวังร้าย มิอาจทราบได้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายในการเรียกผู้ขับขี่รถตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการไปละเมิดสิทธิ์ เพราะการกระทำนั้นเป็นการกระทำเพื่อมุ่งให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่และของประชาชนบนท้องถนนโดยรวม ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ( พรบ.จราจรทางบกพ.ศ. 2522 ฉบับที่ 7 พ.ศ.2550 )

          แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังมีพฤติกรรมเมาแล้วขับส่วนใหญ่เชื่อว่าการเมาแล้วขับเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมไทย ถ้าตราบใดยังไม่ได้ไปชนใครให้บาดเจ็บล้มตาย จึงไม่น่าจะเป็นคดีใหญ่โตอะไร และจากการจับกุมดำเนินคดีผู้ที่เมาแล้วขับตั้งแต่เริ่มโครงการเมาไม่ขับที่ผ่านมา ผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ก็จะได้รับการพิพากษาลงโทษสถานเบากล่าวคือ โทษจำคุกให้รอลงอาญา และให้คุมความประพฤติในระยะเวลาหนึ่ง พร้อมกับทำงานบริการสังคมตามแต่ที่ศาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนี้อาจจะถูกต้องแต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด คดีเมาแล้วขับเป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2552 ( ฉบับที่ 7 พ.ศ.2550 )

         ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไขเพิ่มบทลงโทษจากเดิมโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มบทลงโทษและได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา จากจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และให้คุมความประพฤติ และทำงานบริการสังคมตามแต่ศาลจะสั่ง

         แต่ในความเป็นจริงการพิจารณาคดีเมาแล้วขับในปัจจุบัน ผู้พิพากษาที่ขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี ไม่ได้พิจารณาคดีผู้ที่เมาแล้วขับ โดยลงโทษให้รอลงอาญาทุกรายเสมอไป โดยในบางศาลผู้ที่เมาแล้วขับบางรายถูกศาลพิพากษาให้กักขังหรือจำคุกก็มี ทั้งนี้ขึ้นกับพฤติกรรมแห่งคดี ยกตัวอย่าง

            คดีของนายดำ ( นามสมมติ ) ขับรถขณะมึนเมาตำรวจเรียกตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ นายดำรับสารภาพสำนึกในความผิดและขอโอกาสจากศาลเพื่อจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี แต่ศาลพิจารณาหลักฐานแห่งคดีแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ขับขี่รถสาธารณะ ( รถเมล์ ) ย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้โดยสารสูง แต่กลับไปดื่มสุราจนมึนเมาแล้วออกมาขับรถ ขณะที่ข้อมูลจากการสืบเสาะพบว่า จำเลยมักจะดื่มสุราก่อนขับรถเป็นประจำ แม้ว่าจะถูกภรรยาและญาติ ๆ ห้ามปรามจำเลยก็ไม่สนใจ พิจารณาพฤติกรรมแห่งคดีแล้ว จึงเห็นไม่สมควรให้รอลงอาญาจำเลย โดยพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน

            คดีนาย ด. นักร้องชื่อดัง ขับรถขณะมึนเมา ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรชนรถแท็กซี่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในร่างกายจำเลยพบปริมาณแอลกอฮอล์ 196 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ นาย ด.รับสารภาพตลอดข้อหา และสำนึกในความผิดที่ตนเองได้กระทำ พร้อมทั้งจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับญาติผู้เสียชีวิตจนเป็นที่พอใจ

          ทั้งนี้โดยจำเลยได้ร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบา ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม โดยจำเลยได้อ้างว่าจำเลยเป็นศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงไม่เคยต้องโทษในคดีอาญา เคยช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาคและแสดงคอนเสริต์การกุศลให้กับหน่วยงานภาครัฐหลายครั้ง การนำจำเลยไปติดคุกคงไม่มีประโยชน์อะไร จำเลยขอโอกาสที่จะทำงานรับใช้สังคมเป็นการทดแทน ความผิดขอให้ศาลเมตตาพิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบา โดยขอให้ศาลรอลงอาญาจำเลยแทนการให้จำเลยไปติดคุก ศาลพิจารณาพฤติกรรมแห่งคดีแล้วเห็นว่าจำเลยมีความสำนึกในความผิดที่ทำ อีกทั้งยังได้เยียวยาผู้เสียหายจนผู้เสียหายพอใจ ประกอบกับจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน อีกทั้งยังได้เคยมีส่วนช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ มาหลายครั้ง การนำจำเลยไปติดคุกคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร พิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ปรับ 10,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน ให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี และทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง

             คดี นาย ช. ขับรถขณะมึนเมาชนสองสามีภรรยาบาดเจ็บสาหัส ตำรวจวัดแอลกอฮอล์นาย ช. ได้ 178 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำเลยรับสารภาพตลอดข้อหาและสำนึกผิดในความผิดที่ได้กระทำลงไป พร้อมกับร้องขอต่อศาลให้ลงโทษจำเลยในสถานเบา โดยขอให้ศาลรอลงอาญาจำเลย ศาลพิจารณาพฤติกรรมแห่งคดีแล้ว พบว่าจำเลยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายตามหลักมนุษยธรรมที่ควรจะเป็น หลังเกิดเหตุจำเลยไม่เคยไปเยี่ยมผู้เสียหายหรือช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเบื้อต้นให้กับผู้เสียหายเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแถมยังพูดจาในทำนองท้าทายให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลเอาเอง ประกอบกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ทำการรณรงค์โครงการเมาไม่ขับอย่างต่อเนื่องเพื่อให้จำเลยได้เกิดการรับรู้และตระหนักผ่านสื่อทุกแขนงอย่างกว้างขวางแต่จำเลยหาได้ใส่ใจไม่ พิจารณาแล้วเห็นควรพิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ปรับ 10,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน

             คดี นาย น. ผู้กำกับชื่อดังเมาแล้วขับ ถูกตำรวจจับวัดแอลกอฮอล์ได้ 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำเลยรับสารภาพสำนึกในความผิด ศาลสั่งสืบเสาะความประพฤติแล้ว พบว่าจำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีความผิดเดียวกันเมื่อปี 2546 โดยศาลให้รอการลงโทษไว้ แต่จำเลยยังกระทำความผิดซ้ำอีก แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีจิตสำนึกต่อสังคมโดยรวม จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษจำเลย พิพากษาให้จำคุกจำเลยไว้ 14 วัน แต่ให้ปรับโทษจำคุก เป็นโทษกักขังแทน 7 วัน ยึดใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน จำเลยขอประกันตัว และเตรียมยื่นหลักฐานขออุทธรณ์ต่อศาล

         ตัวอย่างคดีที่นำมากล่าวข้างต้น คงเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ผู้ที่กระทำความผิดฐานเมาแล้วขับ อย่าได้คิดว่าการตัดสินคดีเมาแล้วขับของศาลจะมีแนวทางการตัดสินคดีที่เหมือนกันหมด ผู้พิพากษาเมื่อขึ้นสู่บัลลังก์ แต่ละท่านมีอิสระและเอกสิทธิ์เด็ดขาดในการตัดสินคดี ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ กรณีเมาแล้วขับอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยของผู้พิพากษาบางคน แต่ในทางตรงกันข้าม อาจจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เรื่องใหญ่ของผู้พิพากษาบางคน ถ้ากระแสสังคมเร่งเร้าผลักดันให้มีการจัดระเบียบคนเมาแล้วขับเพื่อไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์บนท้องถนน

ไม่แน่การตัดสินคดีเมาแล้วขับในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไป เหมือนใช้ยารักษาโรค บางครั้งการใช้ยาธรรมดาคงยากที่จะหยุดยั้งโรคร้ายได้ การผ่าตัดอาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่หยุดโรคร้ายนั้นก็อาจเป็น


ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101