คนห่วงหัวระดมพลคนเคยน็อค

17 พฤศจิกายน 53 / อ่าน : 3,687



 

ชมรมคนห่วงหัว ผนึก สสส. กทม. สตช. ระดมพลคนเคยน็อค

รณรงค์ลดเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนนคืนวันลอยกระทง

เปิด สถิติปี 52 เทศกาลลอยกระทง 3 วัน นักบิดตาย 67 ศพ เหตุไม่สวมหมวกกันน็อค

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 พ.ย. ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ชมรมคนห่วงหัว มูลนิธิเมาไม่ขับ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานยูเอ็นเอสเคปประจำประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเพื่อร่วมรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของโลก (WORLD DAY OF REMEMBRANCE FOR ROAD CRASH VICTIMS)  หรือวันเหยื่อโลก ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 เดือนพ.ย.ของทุกปี และในปีนี้ตรงกับวันลอยกระทง

        โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมวันเหยื่อโลก พร้อมมอบหมวกกันน็อคสำหรับเด็กมีสีสันสวยงาม จำนวน 100 ใบ ให้แก่เด็กที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ที่ได้ติดต่อขอรับหมวกกันน็อคผ่านสายด่วน 1717 เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยให้แก่เด็กและส่งเสริมความตระหนักให้กับพ่อแม่และผู้ปกครอง เพื่อร่วมรณรงค์ลดการบาดเจ็บพิการ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เนื่องในวันลอยกระทง

ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัว และเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า จากสถิติช่วง 3 วันของเทศกาลลอยกระทงเมื่อปี พ.ศ.2552 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อคสูงถึง 67 คน ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะยอดนิยมของคนไทย และเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกกันน็อค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่อยู่ในวัยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในกรณีที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปเที่ยวงานลอยกระทง ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดจนทำให้ได้รับการบาดเจ็บพิการและเสียชีวิตได้

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 28 โรงพยาบาล ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในคืนลอยกระทง เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ร้อยละ 67%  หรือ 2 ใน 3 ของอุบัติเหตุทั้งหมด รองลงมาคือ ถูกทำร้าย 16% และบาดเจ็บจากพลุ-ดอกไม้ไฟ 10% ที่สำคัญคือ อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น มีการดื่มสุราร่วมด้วยสูงถึง 38% ซึ่งใกล้เคียงกับเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ และกลุ่มที่ควรระมัดระวังและมีการกวดขันเป็นพิเศษคือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มักจะไม่สวมหมวกกันน็อคและดื่มสุราก่อนขับขี่ ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีนี้เราคงไม่มีเหยื่อจากอุบัติเหตุให้ต้องรำลึกแม้แต่รายเดียว

 

ดาวน์โหลดข่าว ได้ที่ www.ddd.or.th ข่าวประชาสัมพันธ์ “คนห่วงหัวระดมพลคนเคยน็อค”  และ

www.thaihealth.or.th    สำนักข่าว สสส.



ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101