เครือข่ายความร่วมมือที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เดินหน้าโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” ดำเนินการเข้มข้นในช่วงสงกรานต์นี้

5 เมษายน 62 / อ่าน : 2,681

          เครือข่ายความร่วมมือที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เดินหน้าโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” ดำเนินการเข้มข้นในช่วงสงกรานต์นี้ เพื่อตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายที่เกิดอุบัติเหตุจราจร ข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อปลายปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีผลการตรวจแอลกอฮอล์กว่า 1,800 ตัวอย่าง พบว่าผู้บาดเจ็บมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 62% ของผู้บาดเจ็บที่ส่งตรวจทั้งหมด  วันนี้ (5 เมษายน 2562) ที่กรมการขนส่งทางบก นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และนายสมภพ อำไพเจริญ ผู้ประสบภัยจากรถ ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์”  นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาของประเทศไทยมานาน สร้างความสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 20,169 คน (จากข้อมูล 3 ฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนประการหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” เพื่อพัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและมีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกำหนดให้อุบัติเหตุจราจรทุกกรณีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือมีทรัพย์สินเสียหาย ผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายต้องถูกตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ หากผู้ขับขี่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แต่ถ้าผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ ให้ส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก จำนวนกว่า 69 ล้านบาท  จากสถิติการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งมาเบิกกับกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 - 31 มีนาคม 2562 มีผลการตรวจแอลกอฮอล์ 1,873 ตัวอย่าง พบว่าผู้บาดเจ็บมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 62% ของผู้บาดเจ็บที่ส่งตรวจทั้งหมด และเกินกว่ากฎหมายกำหนด 58% ในกลุ่มที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดมีผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงตั้งแต่ 100 mg% ขึ้นไป มากถึง 90%ของกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด และมีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 150 mg% ขึ้นไป 41% ซึ่งจากข้อมูลยังสะท้อนให้ทราบว่า ในผู้ขับขี่ที่ตรวจพบแอลกอฮอล์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 94% ของผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดทั้งหมด  โครงการนี้เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมประชาสัมพันธ์ กรมคุมประพฤติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันดำเนินการและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเกรงกลัวต่อกฎหมาย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแนวคิดของคนไทย หากจะขับต้องไม่ดื่ม แต่ถ้าดื่มแล้วก็ต้องห้ามขับ เพื่อให้สังคมไทยขับขี่ได้อย่างปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งจะมีการขับขี่จำนวนมาก ส่งผลให้มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง  ด้านนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก พร้อมให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ของหน่วยงานและองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในภารกิจการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ขับรถที่ประสบอุบัติเหตุและไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน ถ้าไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารโครงการ จะสามารถตรวจพิสูจน์ผู้ขับรถที่ประสบอุบัติเหตุได้เป็นจำนวน 73,000 ราย ครอบคลุมการปฏิบัติงานทั่วประเทศในช่วงระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ไปสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากขึ้น ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงตามไปด้วย  นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะได้กำหนดมาตรการในเชิงป้องกันด้วยการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจพนักงานขับรถและผู้ประจำรถทุกคนก่อนปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดทุกแห่งทั่วประเทศ รวม 195 แห่ง และสุ่มตรวจสอบระหว่างทางบนถนนสายหลักและสายรอง ณ จุดตรวจความพร้อม 17 จังหวัด รวม 18 แห่ง หากตรวจพบพนักงานขับรถและผู้ประจำรถมีปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกิน 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สั่งเปลี่ยนตัวและส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีเพื่อความปลอดภัย ทั้งยังมีมาตรการเอาผิดกับผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่ควบคุมพนักงานขับรถและผู้ประจำรถด้วย หากประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความปลอดภัย หากพบเห็นการจำหน่ายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานีขนส่ง หรือพบพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถหรือขณะขับขี่ แจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/th/site/office_newsview/view/5279


ความคืบหน้าคดีดัง



QR Code DDD Line
ddd025750101